เกี่ยวกับเรา

Community Health Impact Assessment Platform in Southeast Asia เป็นองค์กรภาคประชาสังคม ที่มุ่งเน้นการสร้างและพัฒนาความรู้เรื่องการประเมินผลกระทบโดยชุมชนในระดับเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เริ่มก่อตัวขึ้นเมื่อเดือนสิงหาคม 2560 โดยการรวมตัวกันของนักวิชาการหลากหลายสาขาทั้งในมหาวิทยาลัยและนักวิชาการอิสระ องค์กรพัฒนาเอกชนที่ทำงานด้านสิทธิ สิ่งแวดล้อม สุขภาพ ตลอดจนชุมชนที่ได้รับผลกระทบจากการพัฒนาขนาดใหญ่ เช่น เหมืองแร่ โรงไฟฟ้าถ่านหิน โรงงานอุตสาหกรรม เป็นต้น ที่ตระหนักในปัญหาธรรมาภิบาลของระบบประเมินผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ อันเป็นสาเหตุให้เกิดความขัดแย้ง ความเหลื่อมล้ำและความไม่เป็นธรรมทางสังคมและสุขภาพ

การประเมินผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม (Environment Impact Assessment: EIA) เป็นเครื่องมือในการแสวงหาข้อมูล หลักฐาน เหตุผลและทางเลือกการพัฒนาโครงการพัฒนาและนโยบายสาธารณะที่นำไปสู่การพัฒนาที่ยั่งยืนและเป็นธรรมกับทุกฝ่าย และแม้ว่าปัจจุบันได้พัฒนามาให้โครงการที่อาจมีผลกระทบต่อชุมชนอย่างรุนแรงให้มีการประเมินผลกระทบด้านสุขภาพด้วย (Environment and Health Impact Assessment: EHIA) ทว่า ปัจจุบันทั้งอีไอเอและอีเอชไอเอ ไม่สามารถสร้างความเชื่อมั่นให้กับชุมชนผู้ที่ได้รับผลกระทบจากโครงการว่าจะนำไปสู่การพัฒนาที่เป็นธรรมได้ รากเหง้าปัญหาความไม่เป็นธรรมของระบบอีไอเอ/อีเอชไอเอ มาจากความเหลื่อมล้ำระหว่างความรู้ชุมชนกับความรู้ผู้เชี่ยวชาญ รวมถึงความไม่เป็นประชาธิปไตยของกระบวนการถกเถียงแลกเปลี่ยนข้อมูล ความรู้ ความเห็น ระหว่างผู้มีส่วนได้เสียกลุ่มต่าง ๆ เป็นปัญหาของความไม่เท่ากันของอำนาจในการกำหนดความรู้เพื่อตัดสินใจการพัฒนามากกว่าปัญหาในเชิงเทคนิควิธีการในการประเมินผลกระทบ

การประเมินผลกระทบโดยชุมชน (Community-led Impact Assessment) ได้มีพัฒนาการมาจาก การประเมินผลกระทบด้านสุขภาพโดยชุมชน (Community Health Impact Assessment: CHIA) ตามประกาศของคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ ภายใต้ พ.ร.บ.สุขภาพแห่งชาติ พ.ศ. 2550 ที่เป็นกระบวนการเรียนรู้ร่วมกันของชุมชนท้องถิ่นในการแสวงหาข้อมูลหลักฐานประกอบการตัดสินใจเลือกนโยบาย โครงการ และกิจกรรมการพัฒนาต่างๆ ที่เป็นผลดีต่อสุขภาวะของชุมชน โดยมีเป้าหมายสู่การสร้างความเป็นธรรมทางสังคมและความเป็นธรรมด้านสุขภาพ ทั้งนี้ได้มีการผสมผสาน 3 แนวคิดหลักในการทำงานได้แก่ 1) แนวคิดด้านสุขภาพ ที่มุ่งเน้นการสร้างเสริมสุขภาพ สุขภาพแบบองค์รวมซึ่งให้ความสำคัญกับปัจจัยทางสังคมที่กำหนดสุขภาพ 2) แนวคิดด้านการศึกษา การจัดการเรียนรู้ที่เน้นการเสริมศักยภาพชุมชนให้มีทักษะการเรียนรู้ตลอดชีวิตและ 3) แนวคิดด้านนโยบายสาธารณะ ที่เน้นกระบวนการนโยบายสาธารณะแบบมีส่วนร่วม เน้นการสร้างสมดุลทางอำนาจเพื่อการตัดสินใจร่วมกัน และรับผิดชอบต่อการตัดสินใจร่วมกัน กว่าสิบปี การดำเนินงานในปัจจุบันนอกจากประเทศไทยแล้วยังได้มีการขยายแนวคิดและปฏิบัติการร่วมกันกับชุมชนองค์ภาคประชาชนในสหภาพเมียนมาร์รวมถึงปฏิบัติการร่วมกับองค์การอนามัยโลกเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ที่ประเทศภูฐานอีกด้วย

แนวคิดและหลักการทำงาน

การประเมินผลกระทบโดยชุมชน ไม่เพียงแต่เป็นเครื่องมือที่ชุมชนจะใช้สร้างความรู้ ปัญญาในการเข้าใจสถานการณ์ ผลกระทบต่าง ๆ ทั้งในเชิงบวกและเชิงลบที่ต่อชุมชนเอง ยังเป็นเครื่องมือสำคัญในการพัฒนานโยบายสาธารณะแบบมีส่วนร่วมทั้งในด้านการประเมินผลกระทบจากนโยบายและโครงการของรัฐหรือเอกชนอย่างรอบด้าน เพื่อให้รัฐและสังคมได้ทบทวนบรรดาทางเลือกต่าง ๆ เพื่อกลั่นกลองสิ่งที่เป็นความยั่งยืน ผาสุก และเป็นธรรมของชุมชนและสังคม และเพื่อให้เกิดการกำหนดนโยบายสาธารณะแบบมีส่วนร่วมที่มีประสิทธิภาพ เป็นธรรม สันติ บนฐานความรู้อย่างแท้จริง โดยยึดหลักสิทธิชุมชน ธรรมาภิบาลด้านสิ่งแวดล้อม ธรรมาภิบาลนโยบายสาธารณะ ตลอดจนการใช้แนวคิดและวิธีการสร้างความรู้ร่วมกัน (Co-production of knowledge) มาปรับใช้ในกระบวนการประเมินผลกระทบ

เป้าหมายการทำงาน

มุ่งลดความเหลื่อมล้ำในระบบประเมินผลกระทบเพื่อนโยบายสาธารณะที่เป็นธรรม โดยมุ่งเน้นการพัฒนาศักยภาพ/ขีดความสามารถของชุมชนในประเทศอาเซียน/เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ให้สามารถทำการประเมินผลกระทบได้ด้วยตนเองและสามารถใช้ข้อมูลหลักฐานในการร่วมตัดสินใจโครงการพัฒนา/กระบวนการนโยบายสาธารณะ

ยุทธศาสตร์การทำงาน

พัฒนาองค์ความรู้ทั้งในเชิงแนวคิด วิธีการศึกษา และวิธีการขับเคลื่อนองค์ความรู้การประเมินผลกระทบโดยชุมชนให้มีความก้าวหน้า หลากหลาย และเหมาะสมกับบริบทต่าง ๆ ที่ชุมชนเผชิญ โดยประมวลออกมาเป็นงานสังเคราะห์ความรู้ หลักสูตรการฝึกอบรม และสื่อสารเพื่อการเรียนรู้ในรูปแบบต่าง ๆ การสนับสนุนชุมชนและเครือข่ายประชาสังคมที่กำลังเผชิญปัญหา ผลกระทบจากนโยบาย โครงการใหญ่ๆ ที่กำลังสร้างความขัดแย้งของสังคม ได้ทำการประเมินผลกระทบโดยชุมชน และใช้องค์ความรู้ในการปกป้องสิทธิชุมชน และกำหนดทางเลือกการพัฒนาที่ยั่งยืน

สมพร เพ็งค่ำ

ผู้ก่อตั้งและผู้อำนวยการ

จบการศึกษาระดับปริญญาตรี จากคณะพยาบาลศาสตร์ (ศิริราช) มหาวิทยาลัยมหิดล ปริญญาโท คณะครุศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้รับประกาศนียบัตร Community-Driven Health Impact Assessment จาก Coady International Institute,  St.Francis Xavier University ประเทศ Canada เป็นสมาชิกเครือข่ายพัฒนาศักยภาพผู้นำสร้างสุขภาวะ (คศน.), Equity Initiative Fellows in Southeast Asia และ Atlantic Fellows เคยทำงานเป็นอาจารย์พยาบาล และ ผอ.ศูนย์ประสานงานการพัฒนาระบบและกลไกการประเมินผลกระทบทางสุขภาพ สำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ (สช.) ร่วมก่อตั้ง HIA Commission HIA Consortium และ HIA Focal Point in ASEAN เริ่มต้นทำงานเอชไอเอเมื่อปี พ.ศ. 2545 กรณี โครงการเหมืองแร่โพแทช จังหวัดอุดรธานี ภายใต้การสนับสนุนของสถาบันวิจัยระบบสาธารณสุข (สวรส.)  โดยมุ่งแนวคิดการประเมินผลกระทบทางด้านสุขภาพโดยชุมชน หลังลาออกจาก สช. ในเดือนตุลาคม ปี พ.ศ. 2556 ได้ทำงานเป็นนักปฏิบัติการอิสระ พัฒนาการทำเอชไอเอชุมชน ซึ่งนอกจากประเทศไทยแล้วยังได้ขยายพื้นที่ทำงานไปยังประเทศพม่าในฐานะที่ปรึกษาของชุมชน ประเทศภูฐานในฐานะที่ปรึกษาของกระทรวงสาธารณสุขภายใต้การสนับสนุนขององค์การอนามัยโลกเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ และประเทศฟิลิปปินส์ในฐานะที่ปรึกษาของกระทรวงสาธารณสุขภายใต้การสนับสนุนของสหภาพยุโรป ซึ่งได้รับรางวัลชนะเลิศ The Atlantic Senior Fellow Award 2019 จากโครงการ The Development of Health Impact Assessment Framework for the Philippines

ปกรณ์ เลิศเสถียรชัย

ผู้ร่วมก่อตั้งและผู้ผสานความรู้ด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและความเสี่ยงทางสังคม

จบการศึกษาปริญญาตรี วิศวกรรมศาสตร์บัณฑิต (เกียรตินิยมอันดับสอง) วิศวกรรมไฟฟ้า จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และ ปริญญาโท Master of Arts in Society, Science and Technology in Europe (with distinction) Lund University, Sweden เชี่ยวชาญในสาขา สังคมวิทยาว่าด้วยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (sociology of science and technology; or Science, Technology and Society: STS) สังคมวิทยาว่าด้วยความรู้ (sociology of knowledge) สังคมวิทยาความเสี่ยง (sociology of risks) วัฒนธรรมศึกษา (cultural studies) ปัจจุบันทำงานประจำเป็นนักวิจัย สถาบันวิจัยสังคมจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และเป็นนักแปล นักเขียนอิสระ โดยมีผลงานแปล ได้แก่ ทุนนิยม ความรู้ฉบับพกพา เส้นทางสังคมวิทยา ย่อโลกทุนนิยม รู้รากมาร์กซิสม์ เมื่อจักรพรรดิพินิจชีวิต ระบอบอาหารและคำถามว่าด้วยสังคมเกษตรกรรม วิธีวิทยาเอเชีย ชาตินิยม (แปล) (Rabindranath Tagore, Nationalism)

ชลาลัย นาสวนสุวรรณ

นักปฏิบัติการเอชไอเอชุมชน โครงการฟื้นฟูชุมชนคลิตี้ล่าง

เยาวชนคลิตี้ล่าง จบการศึกษาระดับปริญญาตรี สาขาคอมพิวเตอร์ธุรกิจ คณะวิทยาการ มหาวิทยาลัยราชภัฏกาญจนบุรี และปริญญาโท ชาติพันธุ์สัมพันธ์และการพัฒนา สาขาวิชาสังคมศาสตร์ คณะสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ทำวิทยานิพนธ์เรื่อง “การปรับเปลี่ยนวิถีชีวิตของชาวกะเหรี่ยงชุมชนคลิตี้ล่างในกระบวนการสร้างรัฐ-ชาติ การพัฒนาสู่ความทันสมัยและการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติ” เป็นผู้ประสานงานโครงการคลิตี้ล่างดีจัง เคยทำงานเป็นครูอาสาศูนย์การเรียนรู้ ตำรวจตระเวนชายแดน คลิตี้ล่าง มีประสบการณ์เดินทางไปแลกเปลี่ยนวัฒนธรรมกะเหรี่ยงที่ปีนัง ประเทศมาเลเซีย แลกเปลี่ยนประสบการณ์ในฐานะผู้ได้รับผลกระทบจากการปนเปื้อนตะกั่วในลำห้วยคลิตี้ และตัวแทนเยาวชนที่ Mekong school จ.เชียงราย แลกเปลี่ยนวัฒนธรรมกะเหรี่ยงที่เมืองนาระ ประเทศญี่ปุ่น และเป็นวิทยากรให้กับนักศึกษาของ Tenassarim River & Indigenous People Network (TRIPNE) ซึ่งเป็น NGOs ทำงานเกี่ยวกับประเด็นสิ่งแวดล้อมและชาติพันธุ์กะเหรี่ยงในไทยและพม่า ชลาลัยมีความสนใจเกี่ยวกับผลกระทบจากการพัฒนา สิทธิมนุษยชน สังคมสุขภาพและวิถีวัฒนธรรมชาติพันธุ์

วันทนีย์ มณีแดง

นักสร้างสรรค์สื่อเพื่อการเปลี่ยนแปลงทางสังคม

ฟรีแลนซ์กราฟิกดีไซน์เนอร์และนักวาดภาพประกอบ ทำงานสร้างสรรค์การสื่อสารองค์กร ด้วยความเชื่อว่า ประเด็นทางสังคมที่ซับซ้อน หากมีเครื่องมือและวิธีการเล่าที่เข้าถึงง่ายและเหมาะสม จะสามารถทำให้ผู้คนหันมาฟังได้

นักวิชาการ นักวิจัย นักปฏิบัติการในพื้นที่

รศ.ดร.ธนพล เพ็ญรัตน์

อาจารย์ ภาควิชาวิศวกรรมโยธา คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยนเรศวร

ดร.กฤษดา บุญชัย

ผู้จัดการมูลนิธิสถาบันชุมชนท้องถิ่นพัฒนา

สุภาภรณ์ มาลัยลอย

ผู้จัดการมูลนิธินิติธรรมสิ่งแวดล้อม

ผศ.ดร.ชื่นจิต ชาญชิตปรีชา

อาจารย์ สำนักวิชาสาธารณสุขศาสตร์ ม.เทคโนโลยีสุรนารี

รศ.ดร.คนางค์ คันธมธุรพจน์

อาจารย์ ภาควิชาสังคมศาสตร์ คณะสังคมศาสตร์และมนุษยศาสตร์ ม.มหิดล

เพ็ญโฉม แซ่ตั้ง

ผู้อำนวยการมูลนิธิบูรณะนิเวศ

สุรชัย ตรงงาม

เลขาธิการมูลนิธินิติธรรมสิ่งแวดล้อม

ดร.มนทกานต์ ฉิมมามี

นักวิจัย สถาบันวิจัยสังคม จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย