เอชไอเอชุมชน
นิยามและการให้ความหมาย
การประเมินผลกระทบด้านสุขภาพโดยชุมชน(Community Health Impact Assessment: CHIA) คือ กระบวนการเรียนรู้ร่วมกันของชุมชนท้องถิ่นในการแสวงหาข้อมูลหลักฐานประกอบการตัดสินใจเลือกนโยบาย โครงการ และกิจกรรมการพัฒนาต่างๆ ที่เป็นผลดีต่อสุขภาวะของชุมชน โดยมีเป้าหมายสู่การสร้างความเป็นธรรมทางสังคมและความเป็นธรรมด้านสุขภาพ
แนวคิดหลัก
การประเมินผลกระทบด้านสุขภาพโดยชุมชน มีการผสมผสาน 3 แนวคิดหลักในการทำงานได้แก่
1. แนวคิดด้านสุขภาพ ที่มุ่งเน้นการสร้างเสริมสุขภาพ สุขภาพแบบองค์รวมซึ่งให้ความสำคัญกับปัจจัยทางสังคมที่กำหนดสุขภาพ
2. แนวคิดด้านการศึกษา การจัดการเรียนรู้ที่เน้นการเสริมศักยภาพชุมชนให้มีทักษะการเรียนรู้ตลอดชีวิต
3. แนวคิดด้านนโยบายสาธารณะ ที่เน้นกระบวนการนโยบายสาธารณะแบบมีส่วนร่วม เน้นการสร้างสมดุลทางอำนาจเพื่อการตัดสินใจร่วมกัน และรับผิดชอบต่อการตัดสินใจร่วมกัน
กระบวนการประเมินผลกระทบด้านสุขภาพโดยชุมชน
แบ่งออกเป็น 6 ขั้นตอนดังนี้
1. การค้นหาคุณค่าหลักของชุมชน (Knowing Community Core Value) โดยการทำแผนที่ชุมชนที่แสดงความสัมพันธ์ระหว่างฐานทรัพยากรกับนิเวศวัฒนธรรมชุมชน และ ลำดับการเปลี่ยนแปลงสำคัญที่เกิดขึ้นจากชุมชนทั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน (Timeline) เพื่อคาดการณ์อนาคต ขั้นตอนนี้ชุมชนเป็นเป็นหลักในการเก็บรวบรวมข้อมูลชุมชนของตนเอง
2. การศึกษาข้อมูลโครงการ/นโยบายที่จะดำเนินการในชุมชน (Knowing Policy/Project) โดยชุมชนจะต้องศึกษาข้อมูลเพื่อให้ทราบว่าเป็นนโยบาย / โครงการอะไร มีเหตุผลและความจำเป็นอย่างไร ใครเป็นเจ้าของนโยบาย/ โครงการ แหล่งเงินทุนมาจากไหน กระบวนการผลิต และผลกระทบเป็นอย่างไร ซึ่งในขั้นตอนนี้นอกจากการศึกษาข้อมูลโครงการแล้วยังต้องอาศัยผู้เชี่ยวชาญมาช่วยเติมความรู้ทางวิชาการที่เกี่ยวข้อง ซึ่งขั้นตอนนี้จะเป็นการเรียนรู้ร่วมกันระหว่างชุมชนกับผู้เชี่ยวชาญ เพื่อผสมผสานระหว่างความรู้ผู้เชี่ยวชาญและความรู้ชุมชนในการคาดการณ์ผลกระทบ
3. การศึกษาข้อมูลเกี่ยวกับสิทธิชุมชน กฎหมายและระเบียบที่เกี่ยวข้องกับการอนุมัติ อนุญาตโครงการ (Knowing Community Right and Policy Procedure) เช่น เรื่อง EIA หรือ ขั้นตอนการให้ใบอนุญาตโรงไฟฟ้า / เหมืองแร่ เป็นต้น เพื่อให้ทราบว่าจะเข้าไปมีส่วนร่วมในการเสนอข้อมูล ความคิดเห็นและร่วมตัดสินใจโครงการ/นโยบาย ในขั้นตอนใดได้บ้าง โดยวิธีการใด ซึ่งกระบวนการเรียนรู้ในขั้นตอนนี้จำเป็นต้องมีนักกฎหมายมาช่วยอธิบายให้ชุมชนได้เข้าใจในระเบียบขั้นตอนต่าง ๆ
4. การประเมินผลกระทบและการตรวจสอบความถูกต้องของการประเมินผลกระทบ (Appraisal) จากกระบวนการเรียนรู้ข้อมูลชุมชนและข้อมูลนโยบาย/โครงการ จะทำให้ทราบถึงขอบเขตการประเมินผลกระทบและโจทย์ในการคาดการณ์ผลกระทบ ซึ่งการจัดทำเป็นแผนที่ความเสี่ยงจะทำให้เห็นขอบเขตและประเด็นข้อห่วงกังวลชัดเจนมากขึ้น จากนั้นจะจัดลำดับความสำคัญและออกแบบการเก็บรวบรวมข้อมูลเพิ่มเติมเพื่อการคาดการณ์ผลกระทบที่อาจจะเกิดขึ้น ซึ่งในประเด็นที่มีความซับซ้อน เช่น เรื่องมลพิษ อาจจะต้องมีการทำงานร่วมกับผู้เชี่ยวชาญด้วย ซึ่งหลังจากที่มีการศึกษาเสร็จแล้ว จะต้องมีกระบวนการให้ชุมชนได้ร่วมกันตรวจสอบความถูกต้อง ครบถ้วนด้วย ซึ่ง ผลลัพธ์ที่ได้จากการประเมินผลกระทบโดยชุมชน จะประกอบไปด้วย (1) ข้อมูลชุมชน ที่จะระบุถึง คุณค่าหลักของชุมชน ซึ่งแต่ละชุมชนจะแตกต่างกัน ขึ้นอยู่กับฐานทรัพยากร ระบบนิเวศ วิถีชีวิตความเป็นอยู่ของแต่ละชุมชน (2) ข้อมูล นโยบาย / โครงการ และ ขั้นตอนการออกใบอนุญาต (3) ผลกระทบ (4) ข้อเสนอทิศทางการพัฒนาที่สอดคล้องกับคุณค่าหลักของชุมชน และเอื้อต่อการมีสุขภาพดีอย่างยั่งยืน
5. การผลักดันเข้าสู่การตัดสินใจ (Influence Policy Decision Making) กระบวนการทำเอชไอเอชุมชนจะทำให้ชุมชนมีข้อมูลใช้ในการตัดสินใจในหลายระดับ ตั้งแต่ขั้นสอบถามความคิดเห็นในระดับชุมชน ประกอบการพิจารณาขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ประกอบการมีส่วนร่วมในกระบวนการประเมินผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ ตลอดจนเป็นข้อมูลที่จะเสนอต่อหน่วยงานอนุญาตเพื่อพิจารณาควบคู่ไปกับข้อมูลของเจ้าของนโยบาย/โครงการ ที่สำคัญ ชุมชนสามารถใช้ข้อมูลจากการเรียนรู้คุณค่าของตนเองไปใช้ในการกำหนดอนาคตของตนเองได้
6. กระบวนการติดตามประเมินผล (Monitoring)