การประเมินผลกระทบด้านสุขภาพโดยชุมชน (CHIA): แนวคิด แนวทาง และกรณีศึกษา
ผู้เขียน: สมพร เพ็งค่ำ / รัฐวิศว์ เอื้อประชานนท์ / อารียาติวะสุระเดช / กฤษดาขุนณรงค์ / มนทนาดวงจำปา/ ชลาลัย นาสวนสุวรรณ / จินดารัตน์ เพิ่มลาภวิรุฬห์ / ศรเดช คำแก้ว / ประสิทธิ์ชัย หนูนวล / ลมิตา เขตขัน
การประเมินผลกระทบด้านสุขภาพโดยชุมชน (Community Health Impact Assessment: CHIA) หรือเรียกกันโดยย่อว่า เอชไอเอชุมชน เป็นรูปแบบหนึ่งของการประเมินผลกระทบด้านสุขภาพตามประกาศของคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ ปัจจุบันได้ถูกขยายการดำเนินงานจากชุมชนในประเทศไทย สู่ชุมชนประเทศเมียนมาร์ และเป็นกรณีศึกษาในการประชุมเชิงปฏิบัติการการประเมินผลกระทบด้านสุขภาพขององค์การอนามัยโลกเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (WHO-SEARO) ทำให้ประเทศภูฐานซึ่งเป็นสมาชิกของ WHO-SEAROให้ความสนใจและพยายามจะผลักดันให้เป็นนโยบายของกระทรวงสาธารณสุข
ทีมผู้เขียน ในฐานะเครือข่ายปฏิบัติการประเมินผลกระทบด้านสุขภาพโดยชุมชนในประเทศไทยและเมียนมาร์ จึงได้ร่วมกันสังเคราะห์แนวคิด กระบวนการและวิธีการทำเอชไอเอชุมชนขึ้น ผ่านกรณีศึกษา จำนวน 8 กรณี ได้แก่ โครงการโรงไฟฟ้าถ่านหิน ต.เขาหินซ้อน อ.พนมสารคาม จ.ฉะเชิงเทรา โครงการก่อสร้างท่าเรือน้ำลึก ต.กลาย อ.ท่าศาลา จ.นครศรีธรรมราช โครงการโรงไฟฟ้าถ่านหิน จ.กระบี่ การลักลอบทิ้งกากของเสียอุตสาหกรรมที่ ต.หนองแหน อ.พนมสารคาม จ. ฉะเชิงเทรา การฟื้นฟูการปนเปื้อนตะกั่วในลำห้วยคลิตี้ หมู่บ้านคลิตี้ล่าง จ.กาญจนบุรี การขอสัมปทานทำเหมืองหินและโรงโม่หินที่ ต.บ้านกลาง อ.อ่าวลึก จ.กระบี่ โครงการขอสัมปทานทำเหมืองปูนซีเมนต์ ที่หมู่บ้านมะหยิ่นกอน เมืองพะอาน รัฐกะเหรี่ยง เมียนมาร์และโครงการโรงไฟฟ้าถ่านหิน 1280 MW ที่หมู่บ้านอันแตง เมืองเย รัฐมอญ เมียนมาร์
เอกสารฉบับนี้มุ่งเน้นการอธิบายแนวคิด ขั้นตอน วิธีการ และเครื่องมือการแสวงหาความรู้ ข้อมูลหลักฐานประกอบการตัดสินใจเลือกการพัฒนา ที่กรณีศึกษาหลายกรณีแสดงให้เห็นว่าแม้ว่าความรู้ทางวิทยาศาสตร์ที่ถูกถ่ายทอดผ่านระบบผู้เชี่ยวชาญนั้นจะมีความสำคัญ แต่ยังมีข้อจำกัดและพื้นที่ไม่รู้ยังมีอยู่อีกมาก ในขณะที่ความรู้ที่เกิดจากประสบการณ์ของผู้คนที่มีวิธีการเรียนรู้และระบบการถ่ายทอดความรู้ในอีกแบบหนึ่ง ก็มีความสำคัญไม่น้อย อย่างไรก็ตาม ความรู้ทั้งสองประเภทนี้แตกต่างกัน ขณะเดียวกันก็สามารถเติมเต็มให้เป็นความรู้ที่สมบูรณ์มากยิ่งขึ้นเพื่อลดความไม่เป็นธรรมที่เกิดจากการพัฒนา
ขอขอบคุณสถาบันวิจัยสังคม จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุภาพ (สสส.) ที่สนับสนุนให้เกิดกระบวนการจัดทำเอกสารฉบับนี้ รวมถึงภาคีเครือข่ายกรณีศึกษาทุกพื้นที่ ทีมผู้เขียนมุ่งหวังว่าเอกสารฉบับนี้จะเป็นเครื่องมือสำคัญในการสร้างกระบวนการเรียนรู้ของเครือข่ายการประเมินผลกระทบด้านสุขภาพโดยชุมชนและสร้างพื้นที่แลกเปลี่ยนถกเถียงระหว่างภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง เพื่อพัฒนาแนวคิดและกระบวนการประเมินผลกระทบ ที่นำไปสู่ความเป็นธรรม ทั้งมิติด้านความเป็นธรรมด้านสุขภาพ ความเป็นธรรมทางสังคม และความเป็นธรรมด้านสิ่งแวดล้อม
เอกสารชิ้นนี้เป็นผลจากโครงการวิจัยเรื่องการประเมินผลกระทบด้านสุขภาพโดยชุมชนในมิติความเป็นธรรมทางสังคม
ภายใต้แผนงานความเป็นธรรมทางสังคมด้านสุขภาวะ
สนับสนุนโดย สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.)
ดาวน์โหลดเอกสารฉบับเต็มได้ที่ภาพด้านล่างนี้