โครงการก่อสร้างท่าเรือน้ำลึก ต.กลาย อ.ท่าศาลา จ.นครศรีธรรมราช



“คุณค่าและความสำคัญของกระบวนการเอชไอเอไม่ใช่การได้มาซึ่งข้อมูล แต่คือการได้ความรู้สึกร่วม
และแนวทางร่วมของชุมชน เมื่อบรรลุวัตถุประสงค์ข้อนี้ ข้อมูลที่ได้มาจะแหลมคมมากกว่าในยามปกติ
หัวใจสำคัญของการจัดทำเอชไอเอมิใช่เพื่อต่อสู้กับคู่ขัดแย้ง แต่คือการสร้างพลังทางปัญญา
เพื่อนำชุมชนออกไปเสียจากความขัดแย้ง อย่างน้อยที่สุดเพื่อหลีกเลี่ยงการใช้กำลังเข้าต่อสู้กัน
ชุมชนที่นี่จึงเลือกที่จะต่อสู้ด้วยพลังทางปัญญาก่อน และเลือกใช้เครื่องมือที่เรียกว่าเอชไอเอชุมชน
แต่การเริ่มต้นในวันนั้นทำให้เรากำหนดอนาคตตนเองออกไปไกลจากความขัดแย้ง
กับบริษัทเชฟรอนและโรงไฟฟ้าถ่านหิน หากแต่เราได้สร้างกระบวนการกำหนดอนาคตตนเอง
ไปสู่การนิยามตัวเองว่าเราคือผู้ผลิตอาหาร และพื้นที่ทั้งหมดนี้มีไว้เพื่อผลิตอาหาร
ให้กับเพื่อนมนุษย์ทั้งโลก”


บ้านบางสาร ตำบลกลาย อำเภอท่าศาลา ตั้งอยู่บริเวณชายหาดนครศรีธรรมราชซึ่งเป็นชายหาดที่มีความยาว 225 กม. เปิดโล่งและไม่มีเกาะแก่งทำให้สามารถมองเห็นทัศนียภาพของทะเลได้จากระยะไกล นอกจากนี้ยังตั้งอยู่ใกล้กับปากแม่น้ำกลายที่มีความอุดมสมบูรณ์มาก เนื่องจากเป็นระบบนิเวศ 3 น้ำ คือ น้ำจืด น้ำกร่อยและน้ำเค็ม โดยบริเวณปากน้ำกลายและพื้นที่ใกล้เคียงยังพบโลมาสีชมพูและสีเทาเข้ามาหากินใกล้ชายฝั่งอยู่บ่อยครั้ง ชุมชนอาศัยอยู่บริเวณชายฝั่งนี้ส่วนใหญ่เป็นมุสลิมและประกอบอาชีพประมงชายฝั่ง และมีแพปลาขนาดเล็กจำนวนมาก

บริษัทเชฟรอนประเทศไทยสำรวจและผลิต จำกัด ได้รับสัมปทานจากรัฐบาลไทยในการสำรวจและผลิตปิโตรเลียม ภายใต้การกำกับดูแลของกรมเชื้อเพลิงธรรมชาติ ครอบคลุมพื้นที่กระจายอยู่ในแนวเหนือ-ใต้ของอ่าวไทย บริษัทมีศูนย์สนับสนุนการปฏิบัติงานสำรวจและผลิตปิโตรเลียม (Shore Base) ตั้งอยู่ 2 แห่ง ที่ อ.เมือง จ.สงขลา และ อ.สัตหีบ จ.ชลบุรี เนื่องจากข้อจำกัดของการดำเนินงานของศูนย์สนับสนุนฯที่มีอยู่ในปัจจุบัน บริษัทฯ จึงมีแผนที่จะก่อสร้างศูนย์สนับสนุนฯแห่งใหม่ ที่บ้านบางสาร ต.กลาย อ.ท่าศาลา จ. นครศรีธรรมราช โดยศูนย์สนับสนุนฯ แห่งนี้จะควบรวมการปฏิบัติงานของศูนย์สนับสนุนฯ ที่มีอยู่ในปัจจุบันทั้ง 2 ศูนย์ไว้ด้วยกัน ซึ่งองค์ประกอบหลักของศูนย์สนับสนุนฯ คือ ท่าเทียบเรือเพื่อรองรับการขนถ่ายวัสดุอุปกรณ์ที่จะต้องขนส่งเข้า-ออกระหว่างพื้นที่ปฏิบัติงานในทะเลกับพื้นที่สนับสนุนบนฝั่ง และการก่อสร้างบริเวณพื้นที่บนฝั่งซึ่งประกอบไปด้วย อาคารและพื้นที่เก็บวัสดุอุปกรณ์ต่างๆ และถนนทางเข้าโครงการฯ เพื่อสนับสนุนกิจกรรมการขนส่ง โดยโครงการท่าเทียบเรือแห่งใหม่นี้จะทำการบริหารงานโดยบริษัทเอ็นเอสที ซัพพลาย เบส จำกัด ซึ่งเป็นบริษัทในเครือของบริษัทเชฟรอนประเทศไทยสำรวจและผลิต จำกัด

โครงการนี้จัดอยู่ในเกณฑ์โครงการหรือกิจการที่อาจก่อให้เกิดผลกระทบต่อชุมชนอย่างรุนแรงทั้งทางด้านคุณภาพสิ่งแวดล้อม ทรัพยากรธรรมชาติและสุขภาพ ตามมาตรา 67 วรรค 2 รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2550 ซึ่งต้องทำการประเมินผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ เนื่องจากโครงการฯ มีความยาวท่าเทียบเรือ 330 เมตร ซึ่งประกาศของกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติฯ กำหนด 300 เมตร ขึ้นไปจัดเป็นโครงการที่อาจกระทบต่อชุมชนอย่างรุนแรง เหตุผลที่ทางบริษัทเลือก ต.กลาย เป็นที่ตั้งโครงการ เนื่องจาก 

  • ไม่เป็นพื้นที่ที่มีข้อจำกัดของการใช้ประโยชน์ที่ดินตามกฎหมาย หรือเป็นพื้นที่ในเขตอนุรักษ์ต่างๆ ทั้งพื้นที่ในทะเลและพื้นที่บนบก  
  • ไม่เป็นพื้นที่ที่มีคุณค่าความสำคัญจำเพาะทางด้านสิ่งแวดล้อมและสังคม และ 
  • สภาพการใช้ที่ดินในพื้นที่โครงการฯ และใกล้เคียงส่วนใหญ่เป็นส่วนมะพร้าว มีชุมชนอาศัยอยู่น้อย ดังนั้นจึงมีความอ่อนไหวต่อการได้รับผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นจากการพัฒนาโครงการฯ น้อยกว่าพื้นที่อื่นๆ  

การดำเนินโครงการฯ จะต้องมีการขุดลอกตะกอนจากพื้นที่ทะเล โดยเริ่มขุดในระยะก่อสร้างและขุดลอกเป็นประจำทุกปี เพื่อให้ได้ระดับความลึกที่เหมาะสมในการเป็นร่องเดินเรือและแอ่งกลับเรือ โดยจะมีขนาดความลึกอยู่ที่ 8.5 เมตร จากระดับน้ำทะเลปานกลาง (คิดเป็นพื้นที่มากกว่า 100,000 ตารางเมตร) ทั้งนี้ตะกอนพื้นทะเลบริเวณโครงการฯ มีความเค็มสูงและส่วนใหญ่เป็นดินเหนียวที่อ่อนมาก จึงไม่สามารถนำมาได้ประโยชน์อื่นๆ ได้ ดังนั้นจึงใช้วิธีการขุดลอกและปล่อยตะกอนกลับลงสู่ทะเล 

การประเมินผลกระทบด้านสุขภาพโดยชุมชน เริ่มต้นจากการตื่นตัวของกลุ่มนักพัฒนาเอกชน ซึ่งส่วนหนึ่งทำงานกับสมาคมประมงพื้นบ้านในพื้นที่นี้อยู่แล้ว มีความห่วงกังวลเกี่ยวกับผลกระทบที่จะเกิดขึ้นจึงสนใจที่จะใช้เอชไอเอชุมชนเป็นเครื่องมือในการสร้างการเรียนรู้ของคนในชุมชนรวมถึงการผลักดันให้ข้อมูลชุมชนได้เข้าไปมีส่วนในการตัดสินใจโครงการ 

กระบวนการทำงานเริ่มต้นจากการแสวงหาแกนนำแล้วให้แกนนำกำหนดรูปแบบการทำเอชไอเอชุมชน ซึ่งประกอบด้วย  ทีมพี่เลี้ยง และ ทีมแกนนำชุมชน ทีมพี่เลี้ยงประกอบด้วย ภาคประชาสังคม ผอ.โรงพยาบาลฉวาง นักพัฒนาองค์กรเอกชน ทีมแกนนำประกอบด้วย  เจ้าหน้าที่สถานีอนามัย ข้าราชการครู แกนนำชุมชน หลังจากทั้งสองทีมได้ร่วมกันร่างแผนงานคร่าวๆ แล้วก็จะนำแผนงานนี้ไปบอกกับชุมชน ทั้งวงขนาดเล็กและวงระดับตำบลในรูปแบบงานเสวนาเพื่อสื่อสารให้คนทั้งตำบลได้รับรู้

การจัดทำข้อมูลเริ่มจากการค้นหาปัจจัยกำหนดสุขภาพ โดยการจัดเวทีเรียนรู้ข้อมูลปัจจัยสร้างเสริมและบั่นทอนสุขภาวะในพื้นที่ตำบลกลาย ค้นหาประเด็นที่ชุมชนตระหนักที่เขาคิดว่ามีผลต่อสุขภาวะด้วยการสร้างแบบสอบถามเพื่อให้คนทั้งตำบลมีส่วนร่วม เมื่อนำแบบสอบถามมาวิเคราะห์จนได้ปัจจัยที่ส่งผลต่อสุขภาวะ นำข้อมูลที่ได้จากแบบสอบถามไปตั้งวงย่อยกับแกนนำแต่ละหมู่บ้านเพื่อตรวจสอบข้อมูลที่ได้จากแบบสอบถามและข้อคิดเห็นเพิ่มเติม ด้วยการประสานงานของมหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ (ช่วงนี้บางพื้นที่ได้รับความร่วมมือน้อยเนื่องจากอิทธิพลจากการเมืองท้องถิ่น)  ค้นพบประเด็นเชิงบวกและประเด็นเชิงลบ และนำสองประเด็นนี้มาศึกษาเพิ่มเติม กล่าวคือประเด็นเชิงบวกคือความสมบูรณ์ด้านการเกษตร ประเด็นเชิงลบคือการห่วงกังวลต่อการเกิดขึ้นของอุตสาหกรรมร้ายแรง เมื่อได้งานศึกษาทั้งสองประเด็นก็นำข้อมูลนี้ไปสู่วงสัมมนาตามวาระต่างๆ ทั้งในพื้นที่และนอกพื้นที่

กว่า 1 ปี กับความพยายามสร้างกระบวนการเรียนรู้และจัดทำข้อมูลชุมชนตำบลกลาย ซึ่งเป็นที่ตั้งโครงการ แกนนำได้ข้อมูลมาชุดหนึ่งในรูปแบบรายงานการวิจัยแต่ปรากฏว่าไม่มีพลังขับเคลื่อนไปสู่การเปลี่ยนแปลง นอกจากนี้ ยิ่งทำงานแทนที่คนจะมาร่วมมากขึ้นแต่กลับกลายเป็นว่าเริ่มทยอยหายไป  กลุ่มแกนนำจึงปรับการทำงานใหม่ โดยมุ่งมาที่กลุ่มเปราะบาง คือ ชาวประมงพื้นบ้าน และได้เปลี่ยนวิธีคิดเรื่องการกำหนดขอบเขตผลกระทบจากเดิมที่ใช้ขอบเขตทางการปกครอง คือ ต.กลาย มาเป็นกลุ่มคนที่ใช้ประโยชน์จากทรัพยากรทะเลในบริเวณที่จะสร้างท่าเทียบเรือ วงเอชไอเอชุมชนจึงถูกขยายจากพื้นที่ตำบลกลายออกไปสู่ชุมชนอ่าวท่าศาลาซึ่งมีจำนวนเรือประมงกว่า 1,000 ลำที่มาจับสัตว์น้ำบริเวณนั้น

ประเด็นสำคัญที่สร้างความตื่นตัวให้กับกลุ่มชาวประมงท่าศาลา คือ ข้อมูลในร่างรายงานประเมินผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ (EHIA) ระบุว่า อ่าวท่าศาลาไม่มีความอุดมสมบูรณ์ ซึ่งชาวบ้านใช้คำว่า “เขาว่าทะเลบ้านเราเป็นเป็นทะเลร้าง” แกนนำชุมชนอ่าวท่าศาลาจึงถูกจัดตั้งขึ้นอย่างรวดเร็วเพื่อเรียนรู้วิกฤติที่จะเกิดขึ้นกับทะเล เรียนรู้ข้อมูลที่เขียนไว้ในร่างรายงาน อีเอชไอเอ ว่าสอดคล้องกับข้อเท็จจริงของพื้นที่ หรือไม่ อย่างไร 

กระบวนการเอชไอเอชุมชนรอบใหม่จึงเกิดขึ้น โดยมุ่งเน้นการเก็บรวบรวมข้อมูลความอุดมสมบูรณ์ของอ่าวท่าศาลาในฐานะเป็นแหล่งผลิตอาหารซึ่งมีความเชื่อมโยงไปสู่ระบบเศรษฐกิจของชุมชนและคุณค่าของชุมชนร่วมด้วย

วงชวนคิด ชวนคุย วงแลกเปลี่ยน ระหว่างแกนนำ แบบไม่เป็นทางการในการถกเถียง แลกเปลี่ยน เกี่ยวกับอนาคตของชุมชน กลายเป็นวงที่มีพลัง เพราะเกิด “ความรู้สึกร่วมกันว่าสำคัญ” การตั้งโจทย์เชิงบวกเพื่อค้นหาคำตอบร่วมกันว่า ประเด็นสำคัญอะไรบ้างที่แสดงถึงศักยภาพและความอุดมสมบูรณ์ของอ่าวท่าศาลา ทำให้เกิดการมีส่วนร่วมอย่างกว้างขวาง มีการจัดวงพูดคุยในทุกหมู่บ้าน จากนั้นนำมาสรุปเป็นกรอบการเก็บข้อมูลร่วมกัน จากนั้นทำการศึกษารายละเอียดด้วยวิธีการต่างๆ เช่น การเก็บข้อมูลด้านเศรษฐกิจจากสถานประกอบการ ชาวประมง การศึกษาทางวิทยาศาสตร์คือการเก็บพันธุ์สัตว์น้ำในอ่าวท่าศาลา การศึกษาทิศทางลม กระแสน้ำ ความสัมพันธ์ของระบบนิเวศ  ในระหว่างที่เก็บข้อมูลก็มีการตรวจสอบข้อมูลตลอดเวลาจากเวทีวิเคราะห์ระดับชุมชนซึ่งจัดขึ้นนับร้อยเวทีทำให้ข้อมูลที่ได้เกิดความแม่นยำ เพราะผ่านการตรวจสอบจากหลายฝ่าย หลายคณะ มีการนำเสนอข้อมูลที่ได้ต่อหน่วยงานที่เกี่ยวข้องต่อการทำลายความสมบูรณ์ของอ่าวท่าศาลา เพื่อให้เกิดการเรียนรู้ของสาธารณะและแสดงเจตนารมณ์ของชุมชนในการกำหนดยุทธศาสตร์ระดับพื้นที่

กลุ่มแกนนำเอชไอเอชุมชนท่าศาลาได้สรุปบทเรียนจากการทำงานนี้ว่า  

“คุณค่าและความสำคัญของกระบวนการเอชไอเอไม่ใช่การได้มาซึ่งข้อมูล แต่คือการได้ความรู้สึกร่วมและแนวทางร่วมของชุมชน เมื่อบรรลุวัตถุประสงค์ข้อนี้ ข้อมูลที่ได้มาจะแหลมคมมากกว่าในยามปกติ หัวใจสำคัญของการจัดทำเอชไอเอมิใช่เพื่อต่อสู้กับคู่ขัดแย้ง แต่คือการสร้างพลังทางปัญญาเพื่อนำชุมชนออกไปเสียจากความขัดแย้งอย่างน้อยที่สุดเพื่อหลีกเลี่ยงการใช้กำลังเข้าต่อสู้กัน ชุมชนที่นี่จึงเลือกที่จะต่อสู้ด้วยพลังทางปัญญาก่อน และเลือกใช้เครื่องมือที่เรียกว่าเอชไอเอชุมชน แต่การเริ่มต้นในวันนั้นทำให้เรากำหนดอนาคตตนเองออกไปไกลจากความขัดแย้งกับบริษัทเชฟรอนและโรงไฟฟ้าถ่านหิน หากแต่เราได้สร้างกระบวนการกำหนดอนาคตตนเองไปสู่การนิยามตัวเองว่าเราคือผู้ผลิตอาหารและพื้นที่ทั้งหมดนี้มีไว้เพื่อผลิตอาหารให้กับเพื่อนมนุษย์ทั้งโลก”