เอชไอเอชุมชน กรณีการฟื้นฟูลำห้วยคลิตี้จากการปนเปื้อนสารตะกั่ว หมู่บ้านคลิตี้ล่าง จ.กาญจนบุรี


“ชุมชนคลิตี้ล่าง” ตั้งอยู่ในพื้นที่อุทยานแห่งชาติและเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าทุ่งใหญ่นเรศวร จ.กาญจนบุรี ที่มีความหลากหลายทางชีวภาพทั้งพันธุ์พืชและสัตว์ป่าของประเทศไทย โดยมีสายน้ำคลิตี้ ไหลผ่านใจกลางชุมชน ลงสู่เขื่อนศรีนครินทร์ แม่น้ำแม่กลอง และสุดสายที่แม่น้ำเจ้าพระยา เป็นเสมือนเส้นเลือดใหญ่ที่คอยหล่อเลี้ยงวิถีและจิตวิญญาณของชาวบ้านคลิตี้ล่างมาอย่างช้านาน  

ชาวบ้านคลิตี้เป็นกลุ่มชาติพันธ์กะเหรี่ยง ซึ่งมีวิถีไร่หมุนเวียน การสร้างบ้านจึงไม่ถาวรเพราะในพื้นที่หนึ่งๆ จะอยู่ประมาณ 5-10 ปีเท่านั้น จากนั้นก็จะอพยพย้ายไปเพื่อให้พื้นดิน ต้นไม้ ใบหญ้า สภาพแวดล้อมฟื้นฟูตนเอง และสิ่งที่จะมีติดตัวไปคือ เมล็ดพันธุ์ เพื่อนำไปปลูกเมื่อมีการโยกย้ายไปในที่ต่างๆ  ปัจจุบันชุมชนคลิตี้ล่างมีทั้งหมด 93 ครัวเรือน ประชากร 313 คน มีการปลูกพืชมากกว่า 73 ชนิด โดยเฉพาะ ข้าว พริก ต้นหอม และฟักทอง ชาวบ้านยังคงมีเมล็ดพันธุ์เป็นของตนเอง

ปี พ.ศ. 2510 บริษัท ตะกั่ว คอนเซนเตรทส์ (ประเทศไทย)จำกัด ได้ทำการแต่งแร่ โดยตั้งโรงแต่งแร่อยู่ต้นน้ำลำห้วยคลิตี้ และได้ปล่อยสารตะกั่วลงสู่ลำห้วย โดยเมื่อปี พ.ศ.2518 ชาวบ้านสังเกตเห็นน้ำในลำห้วยขุ่นและมีกลิ่นเหม็น ทำให้ชาวบ้านที่ใช้น้ำเกิดอาการเจ็บป่วย และเสียชีวิตไม่ทราบสาเหตุ จนกระทั่งปี พ.ศ. 2541 สื่อมวลชนได้เผยแพร่ภาพผลกระทบจากการปนเปื้อนสารตะกั่วใน ลำห้วยคลิตี้สู่สังคมภายนอกซึ่งเป็นข่าวโด่งดังในสมัยนั้น ทำให้ หน่วยงานรัฐที่มีหน้าที่รับผิดชอบเข้ามาปักป้ายว่าเป็นพื้นที่อันตรายห้ามใช้ประโยชน์ รวมทั้งสำนักงานสาธารณสุขจังหวัดมาติดป้ายให้ชาวบ้านงดกินสัตว์น้ำ และงดใช้น้ำชั่วคราว แต่ไม่มีการฟื้นฟูลำห้วยอย่างจริงจัง ทำให้ ปี พ.ศ.2546 ชาวบ้านได้รวมตัวกันใช้สิทธิทางกระบวนการยุติธรรม สิบปีต่อมาศาลปกครองสูงสุดได้พิพากษาให้กรมควบคุมมลพิษจ่ายชดเชยค่าเสียหายให้แก่ชาวบ้านและทำการฟื้นฟูลำห้วย

ต่อมากรมควบคุมมลพิษได้จ้างมหาวิทยาลัยขอนแก่นทำการศึกษาแนวทางและจัดทำแผนฟื้นฟู ลำห้วยคลิตี้ ซึ่งผลการศึกษา มี 5 แผนงานหลัก ดังนี้ 1) แผนฟื้นฟูสภาพพื้นที่ลำห้วย บริเวณ โรงแต่งแร่และใกล้เคียง 2) แผนติดตามตรวจสอบคุณภาพสิ่งแวดล้อม 3) แผนด้านสุขภาพ 4) แผนด้าน สังคมเศรษฐกิจ และ 5) แผนติดตามประเมินการดำเนินการ สำหรับการฟื้นฟูลำห้วยได้แบ่งออกเป็น 7 ช่วง คือ ช่วงที่ 1 และ 7 จะทำการเฝ้าระวังติดตามอย่างต่อเนื่อง ช่วงที่ 2 และ 6 จะทำการดูดตะกอนออก ส่วนช่วงที่ 3 และ 4 จะมีการสร้างฝายดักตะกอน เพิ่มขึ้น 2 ตัว 

วันที่ 10 มกราคม 2559 ครบสามปีที่ศาลปกครองสูงสุดมีคำสั่งให้ฟื้นฟูลำห้วย กรมควบคุมมลพิษเพิ่งเสร็จสิ้นกระบวนการทำแผนปฏิบัติการฯและอยู่ระหว่างการขออนุญาตกรมป่าไม้และกรมอุทยานฯ เข้าไปดำเนินการในพื้นที่ รวมถึงการทำ TOR หาบริษัทมารับดำเนินการ การฟื้นฟูยังไม่ได้เริ่มต้นขึ้น ในระหว่างนี้ชุมชนจึงจำเป็นต้องจัดหาแหล่งน้ำสะอาดเพื่อการดำรงชีวิตอย่างปลอดภัยเอง โดยนำเงินที่ชนะคดีและทำโครงการขอรับบริจาค ไปจัดซื้ออุปกรณ์มาทำประปาภูเขา เพื่อให้ชาวบ้านได้ใช้น้ำที่ปราศจากการปนเปื้อนสารตะกั่ว 

นอกจากนี้ชาวบ้านได้เตรียมความพร้อมที่จะเข้าไปมีส่วนร่วมในกระบวนการฟื้นฟูลำห้วยคลิตี้ จึงได้ทำการประเมินผลกระทบด้านสุขภาพโดยชุมชน (Community Health Impact Assessment: CHIA) โดยคาดหวังว่าจะนำไปสู่การพัฒนาระบบเฝ้าระวังผลกระทบต่อชุมชนทั้งด้านสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ

หมุดหมายสำคัญของการดำเนินโครงการนี้ คือ การสร้างกระบวนการเรียนรู้ของชุมชนในการพัฒนาระบบเฝ้าระวังผลกระทบด้านสุขภาพของชุมชน โดยฝึกทักษะให้ชุมชนสามารถแสวงหาข้อมูลหลักฐานและบันทึกเรื่องราวเกี่ยวกับวิถีชีวิต ความเป็นอยู่ ลักษณะการใช้ประโยชน์จากลำห้วยและทรัพยากรธรรมชาติในบริเวณนั้น สร้างกระบวนการเรียนรู้เชื่อมโยงความรู้ชุมชนกับความรู้จากผู้เชี่ยวชาญในการจัดทำสถานะสุขภาพของคนในชุมชนปัจจุบัน ตลอดจนความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับตะกั่ว พิษของตะกั่ว เส้นทางรับสัมผัส และความเสี่ยงที่เกิดขึ้นระหว่างกระบวนการฟื้นฟู เพื่อให้ชุมชนมีขีดความสามารถในกระบวนการร่วมกำกับ ติดตาม ตรวจสอบ และให้ข้อเสนอแนะต่อหน่วยงานรัฐที่เกี่ยวข้องเพื่อกำหนดมาตรการป้องกันและลดผลกระทบที่อาจจะเกิดขึ้นระหว่างการฟื้นฟูลำห้วยคลิตี้ได้อย่างมีประสิทธิภาพ

ดังนั้นกิจกรรมการดำเนินงานจึงมุ่งเน้นไปที่ปฏิบัติการของชุมชน โดยเริ่มจากการจัดตั้งทีมทำข้อมูลและประชุมทีมวางแผนกระบวนการทำข้อมูลชุมชนอย่างมีส่วนร่วมของชาวบ้าน จากนั้นได้ทีมทำข้อมูลได้เริ่มต้นทำข้อมูลชุดแรก คือ การวาดแผนที่ชุมชน โดยเริ่มลงข้อมูลสำคัญคือ ลำห้วยหลักและลำห้วยสาขา ที่ตั้งบ้าน ที่ดินทำกินและพืชที่ปลูก จุดที่ใช้ประโยชน์ลำห้วย วันต่อมาได้นำแผนที่นี้ไปนำเสนอที่วัดในวันพระเนื่องจากเป็นวันที่ชาวบ้านจะมารวมตัวกันมาก เพื่อมาตรวจสอบและเพิ่มเติมข้อมูลลงในแผนที่ จากนั้นทีมทำข้อมูลได้นำแผนที่เดินไปทีละบ้านเพื่อให้ชาวบ้านได้ลงข้อมูลในส่วนที่เกี่ยวข้องกับตนเอง พร้อมกันนี้ก็ได้ทำการสำรวจจำนวนประชากรที่อาศัยอยู่จริงในชุมชนไปด้วย เพื่อครบทุกบ้านแล้ว ได้นำเอาแผนที่มาวางไว้ที่โรงเรียนเพื่อให้ผู้ปกครองที่มาส่งลูกหลานได้ทำการตรวจสอบความถูกต้องในภาพรวมอีกครั้งก่อนที่จะส่งไปทำกราฟฟิค

หลังจากที่ทำกราฟฟิคแผนที่เสร็จแล้ว ได้ให้เด็กและเยาวชนเข้ามามีส่วนร่วมในด้วยโดยได้ไปเสนอในค่ายเยาวชน แล้วจัดกระบวนการให้เด็กๆ ในค่ายเพิ่มเติมข้อมูล โดยข้อมูลที่ได้เพิ่มเติมจากเด็กๆ คือ ที่ทำกิจกรรมประจำของเด็กๆ เช่น จุดเล่นน้ำ จุดดำปลา ซักผ้า อาบน้ำ ล้างจาน เป็นต้น จากนั้นได้นำข้อมูลมาตรวจสอบอีกครั้งในวันงานออกพรรษาวันสุดท้ายเพื่อให้ข้อมูลแม่นยำมากขึ้นก่อนที่จะนำไปจัดทำเป็นแผนที่การใช้ประโยชน์ลำห้วยของชุมชนคลิตี้ล่างที่สมบูรณ์

 

จากกระบวนการทำแผนที่ทำให้ได้ข้อมูลความจริงที่น่าตกใจ คือ ชาวบ้านทุกหลังคาเรือนในชุมชนใช้ประโยชน์จากลำห้วยโดยตรง ทั้งเป็นน้ำดื่ม หุงข้าว ทำอาหาร ล้างจาน ซักผ้า อาบน้ำ รวมถึงยังกินสัตว์น้ำในลำห้วย และใช้ในการเกษตร

 

แผนที่การใช้ประโยชน์ลำห้วยของชาวบ้านคลิตี้ล่าง

 

ขั้นตอนต่อมา ทีมทำข้อมูลยังนำแผนที่นี้ไปปรึกษากับนักวิชาการผู้เชี่ยวชาญ โดยประชุมร่วมกันที่สถาบันวิจัยสังคม จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เพื่อนำข้อมูลแนวทางการฟื้นฟูลำห้วยของกรมควบคุมมลพิษ มาทาบลงในแผนที่ชุมชน ซึ่งพบว่าแนวทางการฟื้นฟูลำห้วยที่กรมควบคุมมลพิษได้ออกแบบไว้ไม่ครอบคลุมพื้นที่การใช้ประโยชน์ลำห้วยของชาวบ้าน ชุมชนยังคงมีความเสี่ยง

ลำดับต่อมาชุมชนได้มีการจัดทำผังเครือญาติเพื่อดูความเสี่ยงด้านสุขภาพ รวมถึงการทำแผนที่ระบาดวิทยาด้วย ซึ่งในการออกแบบกระบวนการทำงานในครั้งแรกทีมงานตั้งใจว่าหลังจากทำแผนที่ชุมชนเสร็จแล้วจะประสานงานกับทางสาธารณสุขจังหวัดเพื่อขอผลการตรวจเลือดชาวบ้านมาลงในแผนที่ แต่หลังจากที่ได้มีการพูดคุยตามบ้านพบว่าชาวบ้านทั้งหมดไม่ทราบสถานะสุขภาพของตนเองเกี่ยวกับการปนเปื้อนตะกั่วอยู่ในร่างกาย ทั้งไม่ทราบผลการตรวจเลือด จำไม่ได้ว่าตรวจครั้งสุดท้ายเมื่อไหร่ ไม่มีความรู้เรื่องพิษตะกั่ว เส้นทางรับสัมผัส อาการและอาการแสดง เป็นต้น ดังนั้นทีมงานจึงได้ปรับกระบวนการทำงานเปลี่ยนจากแผนที่ระบาดวิทยาที่แสดงข้อมูลผู้ที่มีสารตะกั่วในร่างกาย มาเป็นแผนที่แสดงการรับรู้การปนเปื้อนตะกั่วในร่างกายตนเอง ของชาวบ้านคลิตี้ล่าง เพื่อเป็นข้อมูลพื้นฐานสำคัญที่จะไปทำงานต่อกับภาคสาธารณสุขในการออกแบบการสื่อสารความเสี่ยงและการพัฒนาระบบเฝ้าระวังตนเองเกี่ยวกับผลกระทบด้านสุขภาพจากการปนเปื้อนตะกั่วในลำห้วยคลิตี้ ซึ่งใช้วิธีการเดียวกันกับการทำแผนที่การใช้ประโยชน์ลำห้วย คือ ถือแผนที่เดินสำรวจลงข้อมูลทีละบ้านเพื่อให้ชาวบ้านทุกคนได้มีส่วนร่วมด้วย และเนื่องจากหญิงตั้งครรภ์ที่มีสารตะกั่วในร่างกายสามารถถ่ายทอดไปสู่ลูกได้ จึงได้มีการจัดทำแผนผังเครือญาติเพื่อใช้ประกอบการพิจารณาความเสี่ยงนี้ร่วมด้วย

วันที่ 16 ธันวาคม 2558 ชาวบ้านคลิตี้ล่างได้นำเสนอข้อมูลที่ชุมชนทุ่มเทแรงกาย แรงใจช่วยกันจัดทำขึ้น ต่อหน่วยงานภาครัฐ ในการบันทึกเทปรายการเวทีสาธารณะ ของไทยพีบีเอส ที่ริมน้ำตกธิดาดอย หมู่บ้านคลิตี้ล่าง ทั้งนี้กรมควบคุมมลพิษบอกว่าจะใช้แผนที่ชุมชนทบทวนขอบเขตการดูดตะกอนตะกั่วในลำห้วยฯและใช้เฝ้าระวังคุณภาพสิ่งแวดล้อม ส่วนทางสาธารณสุขบอกว่ายินดีจะเอาผลตรวจเลือดของชาวบ้านมาลงในแผนที่ระบาดวิทยาและผังเครือญาติที่ชุมชนได้ทำขึ้นโดยจะเป็นการทำงานร่วมกันเพื่อพัฒนาระบบเฝ้าระวังผลกระทบต่อสุขภาพโดยชุมชนตามที่ชาวบ้านเสนอ

 

ปัจจุบันทั้งกรมควบคุมมลพิษและกรมควบคุมโรค ได้ใช้ข้อมูลของชุมชนไปปรับปรุงการทำงานและมีการจัดกลไกการทำงานร่วมกันระหว่างชุมชนและหน่วยงานรัฐ

ดาวน์โหลดเอกสาร