การขอสัมปทานทำเหมืองหินและโรงโม่หินที่ ต.บ้านกลาง อ.อ่าวลึก จ.กระบี่


ชุมชนบ้านเขากลมเป็นชุมชนดั้งเดิม ตั้งอยู่ที่ตำบลบ้านกลาง อำเภออ่าวลึก จังหวัดกระบี่ ชาวบ้านส่วนใหญ่ประกอบอาชีพทำสวนยางพาราและปาล์มน้ำมัน เช่นเดียวกับชุมชนอื่นๆ ในภาคใต้ หมู่บ้านนี้มีทรัพยากรธรรมชาติที่อุดมสมบูรณ์เนื่องจากมีลำห้วยไหลผ่านถึง 5 สายและมีภูเขาหินปูนตั้งกระจายอยู่รอบ ๆ หมู่บ้านจำนวนหลายสิบลูก ซึ่งลำห้วยและพื้นที่ภูเขาถือเป็นทรัพยากรธรรมชาติอันเป็นแหล่งอาหารและแหล่งสมุนไพรที่สำคัญของชุมชนมาตั้งแต่อดีต

ปี พ.ศ. 2550 ห้างหุ้นส่วนโรงโม่ตรังภูทอง ขอให้องค์การบริหารส่วนตำบลบ้านกลางจัดประชุมสมาชิกองค์การบริหารส่วนตำบลเพื่อให้ความเห็นชอบกำหนดภูเขาบริเวณหมู่บ้านจำนวน 3 ลูก เป็นแหล่งหินอุตสาหกรรม ได้แก่ เขาเหล็กไฟ เขาโนราและเขาถ้ำช้างนอก ทั้งนี้ภูเขาลูกอื่นก็กำหนดให้เป็นแหล่งหินสำรองซึ่งขั้นตอนนี้ไม่ได้มีการชี้แจงให้ชาวบ้านได้รับทราบ

ต่อมา พ.ศ. 2553 ห้างหุ้นส่วนจำกัดโรงโม่ตรังภูทอง ยื่นขอประทานบัตรเพื่อทำเหมืองหิน โดยองค์การบริหารส่วนตำบลและกำนันในพื้นที่ได้จัดให้มีเวทีรับฟังความคิดเห็น ทุกอย่างเป็นไปอย่างรวบรัด ไม่ได้ให้ข้อมูลผลกระทบที่รอบด้าน และปรากฏว่ามีรายชื่อผู้ไม่ได้เข้าร่วมประชุมอยู่ในรายงาน เป็นต้น 

ชุมชนบ้านเขากลมจึงเริ่มรวมตัวกันตั้งเป็น “กลุ่มอนุรักษ์ทรัพยากรและสิ่งแวดล้อมท้องถิ่นบ้านกลาง” ขึ้นเพื่อทำกิจกรรมด้านการอนุรักษ์และติดตามตรวจสอบการขอทำเหมืองหินของเอกชน โดยเข้ายื่นหนังสือคัดค้านการทำเหมืองต่อหน่วยงานต่าง ๆ เช่น นายอำเภอ อุตสาหกรรมจังหวัด กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม สำนักนายกรัฐมนตรี เป็นต้น ทำให้พบว่ามีการปลอมหนังสือยินยอมให้ใช้พื้นที่ของเจ้าของที่ดินและรายงานการตรวจสอบพื้นที่ที่จัดทำขึ้นโดยกำนันไม่ตรงกับข้อเท็จจริงในพื้นที่หลายประการ  อย่างไรก็ตามกระทรวงอุตสาหกรรมได้ออกประทานบัตรให้แก่เอกชนในปี 2555 ขณะเดียวกันผลจากการเข้ายื่นหนังสือคัดค้านโครงการทำให้ห้างหุ่นส่วนโรงโม่ตรังภูทองฟ้องแกนนำชาวบ้าน 7 คน เป็นคดีแพ่งและคดีอาญาต่อศาล เรียกค่าเสียหายจำนวนกว่า 10 ล้านบาท

สมาคมนักกฎหมายสิทธิมนุษยชนได้เริ่มเข้ามาให้ความช่วยเหลือด้านคดีทั้งคดีแพ่งและคดีอาญาต่อชุมชนโดยการประสานจากนักพัฒนาเอกชนในพื้นที่ และเห็นว่าเป็นกรณีที่ชาวบ้านใช้สิทธิชุมชนในการปกป้องทรัพยากรธรรมชาติอันเป็นสิทธิตามที่ระบุไว้ในรัฐธรรมนูญและการออกประทานบัตรดำเนินการโดยขาดการมีส่วนร่วมของชุมชน ทั้งนี้การทำงานของสมาคมฯ เน้นการใช้กระบวนการทางกฎหมายหรือคดีความเพื่อหนุนเสริมความเข้มแข็งของชุมชน สนับสนุนการสร้างความร่วมมือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เช่น กรมศิลปากร อำเภอ คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ สถาบันการศึกษา รวมถึงการสนับสนุนองค์ความรู้ด้านกฎหมายในการใช้สิทธิตรวจสอบและคัดค้านการดำเนินโครงการอีกด้วย

กระบวนการประเมินผลกระทบทางสุขภาพโดยชุมชนเกิดขึ้นหลังกลุ่มอนุรักษ์ทรัพยากรและสิ่งแวดล้อมท้องถิ่นบ้านกลาง พยายามยื่นหนังสือเพื่อขอให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องทบทวนการออกประทานบัตรหลายครั้ง เนื่องจากเห็นว่าข้อเท็จจริงในพื้นที่กับรายงานการตรวจสอบที่จัดทำโดยเจ้าหน้าที่ไม่ตรงกัน แต่ก็ได้รับคำตอบจากหน่วยงานว่าการดำเนินการตรวจสอบถูกต้องตามขั้นตอนแล้ว จึงเกิดการสรุปร่วมกันว่าชุมชนควรจัดทำข้อมูลอย่างเป็นระบบขึ้นมาเองเพื่อใช้ในการอธิบายจากเดิมที่มักมีแต่รูปภาพ โดยได้รับความช่วยเหลือจากอาจารย์สมพร เพ็งค่ำและมูลนิธินิติธรรมสิ่งแวดล้อมเข้ามาช่วยจัดกระบวนการศึกษา

กระบวนการทำงานเริ่มต้นจากการค้นหาคุณค่าของชุมชนโดยใช้การทำแผนที่ชุมชนเป็นเครื่องมือซึ่งทำให้เห็นประเด็นสำคัญในการสืบค้นข้อมูลชุมชนเชิงลึกใน 8 ประเด็น ได้แก่  ข้อมูลทางกายภาพของชุมชน ประวัติชุมชน การใช้ประโยชน์จากพื้นที่ภูเขา พื้นที่ต้นน้ำของชุมชน เศรษฐกิจชุมชน แหล่งสมุนไพรในชุมชน แหล่งโบราณคดีและผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นจากการทำเหมืองหิน

จากการทำงานทำให้พบว่า บริเวณนั้นมีภูมิประเทศเป็นภูเขาหิน, กลุ่มภูเขา ซึ่งเป็นแหล่งต้นน้ำที่สำคัญ มีมูลค่าเศรษฐกิจท้องถิ่นกว่า 100 ล้านต่อปี ชาวบ้านส่วนใหญ่เป็นเกษตรและมีความมั่นคงในอาชีพ มีความหลากหลายของสุมนไพร: มากว่า 100 ชนิด มีภาพเขียนสีที่อายุ 5,000 ปีที่ต่อมากรมศิลปากรได้ขึ้นทะเบียน, พบภูเขามากว่า 10 ลูกสันนิษฐานว่าเป็นชุมชนโบราณมาก่อนมีคุณค่าทางประวัติศาสตร์

ผลลัพธ์ที่ได้จากกระบวนการประเมินผลกระทบด้านสุขภาพโดยชุมชน นอกจากจะใช้เป็นหลักฐานในการใช้สิทธิทางกฎหมายเพื่อขอให้มีการเพิกถอนประทานบัตรและเป็นหลักฐานในการต่อสู้ทางคดีอื่นๆ แล้ว ยังทำให้ชุมชนได้รู้จักศักยภาพและคุณค่าของฐานทรัพยากรที่เชื่อมโยงกับวิถีชีวิตของชุมชนดีขึ้นอีกด้วย ในการนี้ทางกลุ่มจึงได้จัดเวทีนำเสนอข้อมูลเพื่อขยายเครือข่ายและนำไปสู่การกำหนดทิศทางการพัฒนาชุมชนร่วมกัน

ในกรณีนี้พบว่า การประเมินผลกระทบโดยชุมชนมีความสำคัญต่อการใช้สิทธิทางกฎหมายของชุมชน ดังนี้

  1. เป็นการเตรียมความพร้อมให้ชุมชนในการใช้สิทธิทางกฎหมาย ทำให้ชาวบ้านเกิดความมั่นใจในการอธิบายข้อเท็จจริงต่อหน่วยงานหรือศาลเพราะเป็นผู้รวบรวมและจัดทำข้อมูลเอง
  2. ทำให้มีเอกสารหลักฐานที่เป็นระบบสามารถนำไปใช้เป็นพยานหลักฐานในทางกฎหมายได้
  3. ทำให้พบข้อเท็จจริงใหม่ซึ่งอาจเป็นข้อต่อสู้หรือเหตุผลในการขอให้พิจารณายกเลิกโครงการ โดยเฉพาะ ข้อมูลที่ผิดพลาดใน รายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อม  
  4. การนำผลการศึกษาจากกระบวนการประเมินผลกระทบโดยชุมชนเข้าเป็นส่วนหนึ่งในการพิจารณาคดีของศาลจะทำให้เกิดประเด็นในทางข้อเท็จจริงมากขึ้น ไม่จำกัดอยู่เฉพาะการพิจารณาขั้นตอนกระบวนการตามที่บัญญัติในกฎหมายอย่างเดียว 
  5. งานศึกษาของชุมชนช่วยพัฒนาหลักความได้สัดส่วน ซึ่งจะทำให้เกิดการชั่งน้ำหนักระหว่างประโยชน์สาธารณะกับประโยชน์ของเอกชนได้รอบคอบรอบด้านมากขึ้น