การลักลอบทิ้งกากของเสียอุตสาหกรรม ต.หนองแหน อ.พนมสารคาม จ.ฉะเชิงเทรา
ในเดือนกรกฎาคม ปี พ.ศ. 2555 ชาวบ้าน ต.หนองแหน ได้แจ้งให้ตำรวจเข้าทำการจับกุมรถบรรทุกลักลอบทิ้งน้ำเสียจากโรงงานอุตสาหกรรมในบ่อดินลูกรังขนาด 15 ไร่ ที่ ต.หนองแหน อ.พนมสารคาม จ.ฉะเชิงเทรา ต่อมาบริษัทที่รับของเสียมาทิ้งยอมรับผิดต่อศาลและขอรับผิดชอบทำการบำบัดน้ำเสียเหล่านี้เองโดยได้ว่าจ้างบริษัทที่ปรึกษามาดำเนินการ ในการนี้ผู้ว่าราชการจังหวัดฉะเชิงเทราก็แต่งตั้งคณะทำงานขึ้นมาเพื่อแก้ไขปัญหา หลังจากนั้นในเดือนพฤศจิกายนกลุ่มเรารักษ์หนองแหนก็ได้ประสานงานมายัง ศูนย์ประสานงานการพัฒนาระบบและกลไกการประเมินผลกระทบด้านสุขภาพ สำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ (สช.) แจ้งว่ามีความกังวลเกี่ยวกับผลกระทบต่อสุขภาพที่อาจจะเกิดขึ้นจากการการลักลอบทิ้งน้ำเสียอันตรายดังกล่าว
“บทบัญญัติตาม พ.ร.บ.สุขภาพแห่งชาติ พ.ศ. 2550 มาตรา 5 ให้บุคคลมีสิทธิในการดำรงชีวิตในสิ่งแวดล้อมและสภาพแวดล้อมที่เอื้อต่อสุขภาพ บุคคลมีหน้าที่ร่วมกับหน่วยงานของรัฐในการดำเนินการให้เกิดสิ่งแวดล้อมและสภาพแวดล้อมตามวรรคหนึ่ง ประกอบกับมาตรา 10 ระบุว่า เมื่อมีกรณีที่จะมีผลกระทบต่อสุขภาพของประชาชนเกิดขึ้น หน่วยงานของรัฐที่มีข้อมูลเกี่ยวกับกรณีดังกล่าวต้องเปิดเผยข้อมูลนั้นและวิธีป้องกันผลกระทบต่อสุขภาพให้ประชาชนทราบและจัดหาข้อมูลให้โดยเร็ว ”
พฤศจิกายน พ.ศ. 2555 ศูนย์ประสานงานการพัฒนาระบบและกลไกการประเมินผลกระทบด้านสุขภาพ สำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ (สช.) ได้ลงพื้นที่ประชุมร่วมกับชาวบ้านที่กังวลเกี่ยวกับผลกระทบเพื่อร่วมกันวิเคราะห์สถานการณ์ของปัญหาตลอดจนการมีส่วนร่วมของประชาชนในการแก้ไขปัญหา และลงดูพื้นที่จริง พบว่าในพื้นที่ตำบลหนองแหน มีกิจการที่ก่อให้เกิดความเสี่ยงต่อการปนเปื้อนสารอันตรายและอาจส่งผลกระทบต่อสุขภาพของประชาชนหลายจุด ทั้งหลุมฝังกลบขยะซึ่งได้ใบอนุญาตตามกฎหมาย 2 บ่อ โรงงานรับกำจัดของเสียอันตราย 1 แห่ง โรงงานรีไซเคิลน้ำมัน 1 แห่ง และบ่อดินลูกรังร้างที่มีการเอาขยะไปลักลอบทิ้งอีกหลายจุด
ต่อมาในเดือนมกราคม พ.ศ. 2556 จึงได้จัดกระบวนการร่วมกับชุมชนเพื่อกำหนดขอบเขตในการศึกษา โดยเริ่มจากการศึกษาข้อมูลจากหน่วยงานรัฐที่ได้ดำเนินการมาก่อนหน้านี้ ศึกษาข้อมูลเชิงประจักษ์ผลกระทบที่เกิดขึ้นแล้วจากคำบอกเล่าของชุมชน ทบทวนการพัฒนาที่ผ่านมาในพื้นที่และการเปลี่ยนแปลงที่สำคัญ ตลอดจนจัดทำแผนที่ความเสี่ยงของชุมชน ชาวบ้านที่ร่วมทำข้อมูลมีผู้นำทั้งที่เป็นทางการและไม่เป็นทางการ ทั้งผู้ใหญ่บ้าน สมาชิกองค์การบริหารส่วนตำบลหนองแหน ของแต่ละหมู่ ผู้สูงอายุ เจ้าของฟาร์มหมู สวนมะม่วง สวนผัก เป็นต้น จากกระบวนการทำงานนี้พบว่า
หนองแหนมีศักยภาพด้านการเป็นพื้นที่ผลิตอาหารที่สำคัญ ทั้งเกษตรกรรม (มะม่วงของดีเมืองแปดริ้ว) และปศุสัตว์ (ฟาร์มหมู) ส่งขายทั้งภายในประเทศและต่างประเทศ สภาพพื้นที่ของตำบลหนองแหนโดยทั่วไป เป็นที่ราบลูกฟูกเชิงเขาลาดจากทางตอนใต้ของตำบลมายังตอนเหนือ ความสูงจากระดับน้ำทะเล 10-40 เมตร สภาพพื้นที่ภายในตำบลประกอบด้วยคลองชลประทานซึ่งรับน้ำจากโครงการชลประทานฝายท่าลาด นอกจากนี้ยังมีคลองที่สำคัญ ได้แก่ คลองบึงกระจับ ลักษณะดินโดยทั่วไปเป็นดินร่วนปนทราย ระบายน้ำดี เหมาะสมแก่การปลูกพืชไร่ สำหรับบริเวณตอนเหนือ และตะวันตกของตำบล จะเป็นดินเหนียว การระบายน้ำไม่ดี เหมาะสำหรับการทำนา มีทั้งหมด 15 หมู่บ้าน ประมาณ 3,000 ครัวเรือน ประชากรประมาณ 9,000 คน มี เนื้อที่รวม 45,625 ไร่ ส่วนใหญ่เป็นพื้นที่ทำนา รองลงมาเป็นที่อยู่อาศัย ทำสวน ทำไร่ พื้นที่สาธารณะเช่นป่าชุมชน และอื่นๆ ในสัดส่วนเนื้อที่ใกล้เคียงกัน ซึ่งสอดคล้องกับการประกอบอาชีพที่ส่วนใหญ่ทำนา รองลงมาเป็นทำสวน ทำไร่ เลี้ยงสัตว์และอื่นๆ
การเปลี่ยนแปลงที่สำคัญของพื้นที่ เริ่มจากมีนายทุนจากนอกพื้นที่เข้ามาซื้อที่ดินเพื่อขุดหน้าดินขาย กลายเป็นบ่อดินร้าง หลังจากนั้นก็จะมีนายทุนกลุ่มใหม่มาขอซื้อต่อ มีการตั้งโรงงานรีไซเคิลน้ำมัน ตั้งโรงงานกำจัดกากของเสียอันตราย และเริ่มมีการลักลอบทิ้งน้ำเสียและกากของเสียอันตรายในบ่อดินร้างประมาณมี 2555
ข้อมูลจากกรมสอบสวนคดีพิเศษ (DSI) แสดงให้เห็นว่ามีการลักลอบทิ้ง กากของเสียอันตรายหลายจุดทั้งที่ตำบลหนองแหนและใกล้เคียง โดยในพื้นที่หนองแหนมีจุดเสี่ยงต่อการปนเปื้อนสารเคมีอันตรายในสิ่งแวดล้อมที่อาจเป็นอันตรายต่อมนุษย์และสัตว์เลี้ยง แบ่งเป็น 3 ประเภท คือ 1) โรงงานรับกำจัดกากของเสียอุตสาหกรรม 2) หลุมฝังกลบขยะ ทั้งขยะจากกทม.และกากของเสียจากโรงงาน และ 3) บ่อดินลูกรังซึ่งมีการลักลอบทิ้งกากของเสียฯ ซึ่งจุดเสี่ยงเหล่านี้ส่วนใหญ่ตั้งอยู่ต้นน้ำ โดยที่ชุมชนอยู่ท้ายน้ำ
ชาวบ้านหนองแหนใช้น้ำจากบ่อน้ำตื้นที่มีกันทุกบ้านเพื่อการอุปโภค บริโภค เลี้ยงสัตว์และเพื่อการเกษตร ทั้งนี้กรมทรัพยากรน้ำบาดาลตรวจพบว่ามีการปนเปื้อนสารอันตรายโดยเฉพาะฟีนอลในน้ำหลายบ่อ มีลักษณะกระจายทั่วพื้นที่หนองแหน ซึ่งห้ามนำมาใช้บริโภค และบางบ่อบริโภคได้แต่ต้องลดปริมาณเหล็กและแมงกานีสก่อน รวมถึงข้อมูลการตรวจวิเคราะห์ตัวอย่างน้ำของกรมโรงงาน และกรมควบคุมมลพิษก็มีผลไปในทิศทางที่สอดคล้องกัน
การปนเปื้อนสารอันตรายในแหล่งน้ำส่งผลกระทบต่อสัตว์เลี้ยง และสุขภาพอนามัยของประชาชน โดยพบว่าปี 2551 ฟาร์มหมูหลายแห่งมีลูกหมูแรกคลอดตายยกครอก แม่หมูแท้ง คลอดก่อนกำหนด ลูกหมูพิการแรกคลอด แม่หมูเบื่ออาหาร น้ำนมแห้ง ลูกหมูผอม โตช้า ทำให้มีบางฟาร์มต้องปิดกิจการ มีผลกระทบต่อพืชผลทางการเกษตร ชาวบ้านที่ปลูกผักขายได้ลดลง เนื่องจากผู้บริโภคไม่มั่นใจเรื่องความปลอดภัย อนึ่งในช่วงเวลาที่มีการลักลอบทั้งน้ำเสียอันตรายในบ่อดิน 15 ไร่ มีชาวบ้านได้รับผลกระทบจากการได้รับกลิ่น มาขอรับการรักษาที่ รพ.สต.หนองแหนและ รพ.สต. ปลายกระจับจำนวนมาก ด้วยอาการที่คล้ายกัน ได้แก่ เวียนศีรษะ มึนงง แสบจมูก หายใจลำบาก อ่อนเพลีย นอกจากนี้พบว่ามีชาวบ้านบางคนตรวจพบฟีนอลในกระแสเลือดอีกด้วย
จากกระบวนการศึกษาข้อมูลเบื้องต้นทำให้ได้กรอบในการทำงานที่ชัดเจนขึ้นได้แก่ การศึกษาการปนเปื้อนของสารพิษในพื้นที่ (มีการปนเปื้อนสารพิษชนิดใดอยู่ในพื้นที่บ้าง อันตรายของสารพิษแต่ละชนิดและความเสี่ยงต่อชีวิตความเป็นอยู่) ทำอย่างไรให้ชาวบ้านได้อยู่ในสิ่งแวดล้อมและสภาพแวดล้อมที่ปลอดภัย (มาตรการเร่งด่วน การบำบัดน้ำ เพื่อให้ชาวบ้านได้ใช้น้ำอย่างปลอดภัย ศึกษาวิธีการบำบัดและฟื้นฟูพื้นที่อย่างเป็นระบบ) และผลักดันให้มีการประกาศเป็นเขตควบคุมมลพิษเพื่อให้มีการทำแผนลดและขจัดมลพิษเพื่อเป็นเครื่องมือในการบำบัดและฟื้นฟูพื้นที่อย่างเป็นระบบ
วันอาทิตย์ที่ 31 มีนาคม 2556 มีการประชุมคณะรัฐมนตรีนอกสถานที่อย่างเป็นทางการ ณ จังหวัดฉะเชิงเทรา กลุ่มราษฎร “กลุ่มเรารักษ์หนองแหน” ตำบลหนองแหน อ.พนมสารคาม จ.ฉะเชิงเทรา ประมาณ 100 คน ได้เดินทางมายื่นหนังสือถึงนายกรัฐมนตรี ขอให้ช่วยเร่งรัดแก้ไขปัญหา กรณีราษฎรได้รับผลกระทบจากผู้ประกอบการอุตสาหกรรมลักลอบทิ้งกากขยะและน้ำเสียอันตราย ทำให้กระทบต่อวิถีชีวิตของประชาชนในพื้นที่บริเวณกว้าง
ต่อมาเมื่อวันที่ 15 พฤษภาคม 2556 นายกรัฐมนตรีได้ให้รองเลขาธิการนายกรัฐมนตรีฝ่ายการเมือง และคณะเดินทางลงพื้นที่ตรวจสอบข้อเท็จจริง โดยร่วมประชุมกับหน่วยงานราชการที่เกี่ยวข้อง และตัวแทนราษฎรที่ได้รับผลกระทบประมาณ 100 คน ณ ห้องประชุมองค์การบริหารส่วนตำบลหนองแหน จากนั้นสำนักงานเลขาธิการนายกรัฐมนตรี ได้ส่งหนังสือถึงเลขาธิการคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติขอให้ สำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ (สช.) ดำเนินการร่วมกับศูนย์วิจัยและฝึกอบรมสิ่งแวดล้อม กรมส่งเสริมคุณภาพสิ่งแวดล้อม และคณะวิศวกรรมศาสตร์ ม.นเรศวร ทำการตรวจหาสารปนเปื้อนของสารเคมี เพื่อหาแนวทางในการบำบัดและการฟื้นฟูพื้นที่ ตามข้อร้องเรียนของราษฎรที่ได้รับผลกระทบจากผู้ประกอบการอุตสาหกรรมลักลอบทิ้งขยะและน้ำเสียอันตราย
ทาง สช. จึงได้ประสานงานขอความร่วมมือไปยังศูนย์วิจัยและฝึกอบรมด้านสิ่งแวดล้อม กรมส่งเสริมคุณภาพสิ่งแวดล้อม ภาควิขาเคมี คณะวิทยาศาสตร์มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ และคณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยนเรศวรเพื่อทำการเก็บตัวอย่างน้ำ ดิน ตะกอนดิน เพื่อตรวจหาการปนเปื้อนสารอันตราย รวมถึงการวิธีการบำบัดและฟื้นฟูพื้นที่
การวิเคราะห์ทางเคมีและข้อค้นพบเบื้องต้น
การเก็บตัวอย่างน้ำใต้ดินจากบ่อน้ำตื้นของประชาชน บ่อน้ำที่จะใช้เป็นประปาหมู่บ้านการเก็บตัวอย่างดินในพื้นที่ของประชาชนที่อยู่ใกล้กับสถานประกอบการกำจัดของเสียอุตสาหกรรมที่ประชาชนร้องเรียนว่าอาจมีการปนเปื้อนสารอันตราย และตัวอย่างตะกอนดินและน้ำจากคลองตาดน้อยซึ่งเป็นคลองในพื้นที่ที่ได้รับผลกระทบตัวอย่างทั้งหมดได้นำมาวิเคราะห์ตรวจสอบหาสารปนเปื้อนกลุ่มสารอินทรีย์ในเบื้องต้น โดยการพบว่ามีสารปนเปื้อนในตัวอย่าง ประกอบด้วย
- สารประกอบฟีนอล (phenol) และอนุพันธ์ ซึ่งฟีนอลเป็นสารเริ่มต้นใช้ในอุตสาหกรรมหลายชนิด เช่น ฟีนอลทำปฎิกิริยากับ formaldehyde ใช้ในการทำ phenolic resin ซึ่งใช้ในการเคลือบแผงวงจรไฟฟ้า การเคลือบกระป๋องอาหาร
- สารกลุ่มตัวทำละลาย (solvent)เช่น cyclohexane, cyclohexanone, cyclohexanol, tetradecane ทั้งนี้ cyclohexane เป็นตัวทำละลายในอุตสาหกรรม เกิดปฏิกิริยาออกซิเดชันด้วยตัวเร่งปฏิกิริยา (catalyst) เกิดเป็น cyclohexanone และcyclohexanol ที่ใช้ในการผลิต adipic acid และ carprolactam ซึ่งเป็นสารตั้งต้นในการผลิตพลาสติกและไนลอน สำหรับ tetradecane ใช้ในการล้างไขมันจากโลหะ ใช้ในการทำสี และย้อมสี
- สารประกอบไฮโดรคาร์บอนสายยาว เช่น hexadecane (มีคาร์บอน 16 ตัว; C-16), octadecane (C-18), nonadecane (C-19), eicosane (C-20), heptacosane (C-27) ไฮโดรคาร์บอนสายยาวในกลุ่มนี้ เป็นกลุ่มที่ใช้เป็นน้ำมันหล่อลื่นเครื่องยนต์
- สารที่ใช้ในการผลิตในพอลิเมอร์ (polymer additives) ซึ่งสารปนเปื้อนที่พบในกลุ่มนี้ ประกอบด้วย Bis-phenol สารเติมแต่งที่ใช้ในการผลิตพลาสติกและอีพอกซีเรซิน (epoxy resin) phthalate เป็นสารเติมแต่งในการผลิตพลาสติก Carprolactam เป็นสารตั้งต้นในการผลิตไนลอน 3,4-Dimethylbenzaldehyde ใช้ในการผลิตสารเติมแต่งในอุตสาหกรรมพลาสติก polyolefin ทำให้เกิดความใสของพลาสติก Phthalic anhydride เป็นสารตั้งต้นในการผลิตสารทางอุตสาหกรรมหลายชนิด เช่น การผลิตพลาสติก โพลีเอสเทอร์ โพลีแอลกอฮอล์ สี สีย้อม ยาไล่แมลง ยางฟอกหนัง น้ำหอมและยา 2-Propanol, 1-chloro-phosphate เป็นสารที่ใช้ผสมในการผลิตวัสดุกันไฟ 1,2-Benzenedicarboxylic acid, bis (2-methylpropyl)ester ใช้ในการผลิตพลาสติกไนโตรเซลลูโลส Benzene, 2,4-disocyanato-1-methyl ใช้ในการผลิตโฟมและกาว polyurethane Benzotriazole, 4-methyl เป็นสาร antifreezer ของเครื่องยนต์ Styrene ใช้ในการผลิตยางสังเคราะห์และพลาสติก เรซิน สี ฉนวนที่เป็นโฟม
ซึ่งสารบางชนิดโดยเฉพาะสารประกอบฟีนอล (phenol) และ สารที่ใช้ในการผลิตในพอลิเมอร์ (polymer additives)หากร่างกายได้รับสารกลุ่มนี้เข้าไปอาจจะส่งผลกระทบต่อสุขภาพโดยมีผลต่อความผิดปกติของระบบสืบพันธ์ การเปลี่ยนแปลงทางพันธุกรรม และอาจทำให้เกิดมะเร็ง เนื่องจากเป็นการศึกษาเบื้องต้นยังมีความจำเป็นต้องมีการตรวจสอบเพิ่มเติมเพื่อความถูกต้องของข้อมูลแต่ทั้งนี้สารปนเปื้อนที่พบไม่ได้เป็นสารที่เกิดขึ้นตามธรรมชาติเป็นข้อมูลบ่งชี้ของการปนเปื้อนอันเกิดจากกิจกรรมมนุษย์
ข้อเสนอต่อแนวทางและมาตรการในการบำบัดฟื้นฟูการปนเปื้อนสารอันตรายในพื้นที่ตำบลหนองแหน
ประกอบด้วย 4 มาตรการ คือ 1) แก้ไขจุดที่กำลังเสี่ยง 2) จุดที่แก้ไขแล้วทำให้คลายสงสัยและเกิดความมั่นใจ 3) ประเมินอนาคตและป้องกันเหตุไม่รอให้เหตุเกิด และ4) ทุกภาคส่วนร่วมมือกันเพื่อวัตถุประสงค์เดียวกันโดยเน้นที่การมีส่วนร่วมของประชาชนในพื้นที่ผู้ได้รับผลกระทบ
มาตรการที่ 1
ในขั้นของการแก้ไขจุดที่กำลังเสี่ยง ควรเร่งดำเนินการก่อนใน 2 จุด ได้แก่ การออกแบบและติดตั้งระบบบำบัดฟีนอลในน้ำบ่อตื้นเพื่อการอุปโภคบริโภคของชาวบ้านโดยใช้ระบบบำบัดแบบติดตั้งที่จุดใช้น้ำ ซึ่งได้ทำการประเมิน ทางเลือกเทคโนโลยีได้ 4 แบบ ได้แก่ 1) ธรรมชาติบำบัดสารฟีนอลและสารอันตรายอื่นๆ โดยการทิ้งไว้ให้ระเหยเอง หรือ การใช้เทคนิค Air Stripping (สร้างฟองน้ำพาสารฟีนอลระเหยออกไป), 2) ธรรมชาติบำบัดโดยการให้จุลชีพย่อยสลาย หรือวิศวกรรมสลายโดยจุลชีพ, 3) การดูดซับ และ 4) การสลายสารฟีนอลและสารอันตรายอื่นๆ ด้วย Oxidants (สารที่สามารถดึงอิเล็กตรอนออกจากสารฟีนอลเพื่อแปรสภาพสารฟีนอลเป็นสารอื่นๆที่ไม่มีพิษ) ซึ่งจากการประเมินความเหมาะสมด้านอัตราการผลิตน้ำ ความเป็นไปได้ทางการบำบัด ราคาในการสร้างระบบ ราคาในการเดินระบบ และความยากง่ายในการใช้แล้ว สามารถสรุปได้ว่า เทคนิคการสลายสารฟีนอลด้วยโอโซน (Oxidant) มีความเหมาะสมที่สุดและการบำบัดโดยการดูดซับมีความเหมาะสมรองลงมา จึงเสนอให้มีการติดตั้งระบบการสลายสารฟีนอลด้วยโอโซน (Oxidant) หรือระบบการดูดซับเพื่อบรรเทาความเสี่ยงต่อสุขภาพอันเป็นการจัดการลดความเสี่ยงเฉพาะหน้าที่เกิดขึ้นแล้วและจำเป็นต้องจัดการอย่างเร่งด่วน
การออกแบบและติดตั้งระบบบำบัดสารฟีนอลในน้ำเสียอุตสาหกรรมที่ถูกลักลอบทิ้งในบ่อของ อ.มนัส เนื่องจากน้ำเสียอุตสาหกรรมดังกล่าวอาจเป็นสาเหตุของการปนเปื้อนในดินและน้ำใต้ดินในบริเวณใกล้เคียงได้ ทั้งนี้ทางคณะวิศวกรรมศาสตร์ม.นเรศวร ได้ทดลองใช้ระบบ Oxidation โดยไฟฟ้าเคมี ร่วมกับ ระบบ Reduction โดยเหล็ก เรียกรวมว่าวิธี Redox Manipulation ซึ่งประสบผลสำเร็จสามารถกำจัดฟีนอลได้อย่างรวดเร็ว และไม่มีสารพิษต่กค้างให้จัดการต่อ (ฟีนอลสลายเป็นสารไม่มีพิษ) ระบบนี้สามารถสร้างเป็นเครื่องที่ใหญ่ขึ้นเพื่อการใช้งานจริงได้ไม่ยาก จึงเสนอให้ดำเนินการสร้างเครื่องเพื่อบำบัดน้ำเสียลักลอบทิ้งในบ่อของ อ.มนัส โดยเร็วเพื่อลดการรั่วไหลของสารอันตรายสู่สิ่งแวดล้อม
มาตรการที่ 2
ให้ทำการตรวจสอบประเมินความเสี่ยงต่อสุขภาพและสิ่งแวดล้อมที่หลงเหลือหลังจากการจัดการกำจัดแหล่งกำเนิดการปนเปื้อนไปแล้ว (Removal Action) ไม่ว่าจะเป็นบ่อ 15 ไร่ หรือน้ำเสียลักลอบทิ้งในบ่อของ อ.มนัส หรือแหล่งอื่นๆ เพื่อประเมินว่าหลังจากกำจัดแหล่งกำเนิดการปนเปื้อนไปแล้ว (Removal Action) ยังจำเป็นต้องทำการฟื้นฟูพื้นที่ปนเปื้อน (Remediation) อีกหรือไม่ เนื่องจากเมื่อสารอันตรายถูกทิ้งลงในสิ่งแวดล้อมจะเกิดการแพร่กระจายลงสู่สิ่งแวดล้อมและสารอันตรายอาจจะถูกดูดซับโดยดินและปนเปื้อนน้ำใต้ดินทำให้ดินเป็นแหล่งกำเนิดการปนเปื้อนทุติยภูมิซึ่งอาจปลดปล่อยสารปนเปื้อนออกมาในภายหลังและทำให้น้ำบ่อตื้นของชาวบ้านมีสารปนเปื้อนได้อีก จึงต้องมีการเก็บตัวอย่างบริเวณรอบๆแหล่งกำเนิดที่ถูกกำจัดไปแล้วและใช้หลักสถิติและการประเมินความเสี่ยงต่อสุขภาพและสิ่งแวดล้อมทำการประเมินเพื่อยืนยันว่าความเสี่ยงคงค้างเหลือน้อยและยอมรับได้เพื่อจะที่จะไม่ทำอะไรต่อ (ปิดพื้นที่) หรือหากความเสี่ยงคงค้างเกินก็ต้องทำการฟื้นฟูโดยหลักทางวิศวกรรมให้ความเสี่ยงลดลงมาถึงระดับที่ยอมรับได้
มาตรการที่ 3
การป้องกันการปนเปื้อนรั่วไหลของสารอันตรายในอนาคต โดยทำการสำรวจแหล่งกำเนิดการปนเปื้อนที่เป็นไปได้ทั้งหมดในพื้นที่ เพื่อประเมินการปนเปื้อนและใช้แบบจำลองการเปลี่ยนวัฏภาคและการเคลื่อนที่ของสารอันตราย (Fate and Transport Modeling) ในการประเมินว่าสารปนเปื้อนที่ตรวจพบในแต่ละแหล่งกำเนิด (การปนเปื้อนโรงงานกำจัดกากอุตสาหกรรมต่างๆ) จะเคลื่อนที่ไปได้ไกลเพียงใดและจะก่อให้เกิดความเสี่ยงเท่าใดนับแต่ปัจจุบันจนถึงอนาคต 30 ปีข้างหน้าโดยไม่ต้องรอให้เหตุเกิด ถ้าการประเมินพบว่ามีโอกาสก่อให้เกิดความเสี่ยงต่อสุขภาพและสิ่งแวดล้อมก็ดำเนินการกำจัดแหล่งกำเนิดและฟื้นฟูเลย ฉะนั้นขั้นตอนการสำรวจเพื่อประเมินนี้จึงมีความสำคัญมากแม้จะต้องใช้งบประมาณมากแต่ก็ควรทำเพื่อป้องกันปัญหาในอนาคตซึ่งอาจต้องใช้งบประมาณมากกว่าในการจัดการและก่อให้เกิดผลกระทบต่อสุขภาพของประชาชนด้ว
มาตรการที่ 4
มีความสำคัญมากคือการร่วมมือกันของทุกภาคส่วนเพื่อแก้ไขปัญหาให้ประชาชนมีส่วนร่วมในการตัดสินใจอนาคตความเสี่ยงของตนเองภายใต้ฐานข้อมูลทางวิชาการที่ถูกต้องและทำงานอย่างสร้างสรรค์เพื่อแก้ไขปัญหา เจ้าหน้าที่รัฐทั้งส่วนกลางและท้องถิ่น NGOs เจ้าของกิจการที่อาจก่อให้เกิดการปนเปื้อนควรได้รับการประชาสัมพันธ์ถึงประโยชน์จากกิจกรรมการแก้ไขปัญหาเก่าและป้องกันปัญหาใหม่เพื่อโอกาสในการร่วมมือกันอันจะนำไปสู่ความสำเร็จ
ปลายเดือน มิถุนายน 2556 เครือข่ายนักวิชาการประเมินผลกระทบด้านสุขภาพ (HIA Consortium) ได้มีการจัดประชุมที่ รพ.สต.หนองแหน เพื่อฟังการนำเสนอผลการตรวจวิเคราะห์เบื้องต้น รวมถึงข้อเสนอแนวทางและมาตรการในการบำบัดฟื้นฟูพื้นที่ ทั้งนี้ได้เชิญหน่วยงานที่เกี่ยวข้องตลอดจนชาวบ้านร่วมฟังด้วย และลงพื้นที่ดูจุดเสียงต่างๆ รวมถึงไปเยี่ยมบ้านเจ้าของฟาร์มหมู ที่มีสารฟีนอลปนเปื้อนในบ่อน้ำตื้น มีฟีนอลในเลือด และหมูคลอดลูกตาย
ต่อมาวันที่ 29 กรกฎาคม 2556 ได้มีการนำเสนอผลการศึกษาในการประชุมสัมมนา “งานวิจัยเชิงบูรณาการเพื่อการเฝ้าระวังและการฟื้นฟูผลกระทบต่อสุขภาพและสิ่งแวดล้อมจากการปนเปื้อนสารอันตราย” ในงานนเรศวรวิจัยครั้งที่ 9 และวันที่ 5 สิงหาคม 2556 ได้จัดสัมมนา เรื่อง “ข้อเสนอแนวทางการบำบัดและฟื้นฟูการปนเปื้อนสารพิษ ที่ ต.หนองแหน อ.พนมสารคาม จ.ฉะเชิงเทรา” ที่ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โดยเชิญหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้งในระดับพื้นที่ และส่วนกลาง รวมถึง ประชาชน NGOs และผู้เชี่ยวชาญด้านสารพิษ มาร่วมพิจารณาผลการศึกษาและข้อเสนอที่จะนำสู่การประชุมคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ
แม้ว่าสุดท้ายแล้วเรื่องนี้ไม่ได้ถูกบรรจุเข้าสู่การพิจารณาของคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ แต่ผู้ว่าราชการจังหวัดฉะเชิงเทราในขณะนั้นได้ใช้ข้อมูลนี้ผลักดันในการจัดหางบประมาณมาดำเนินการติดตั้งเครื่องสลายฟีนอลในบ่อน้ำตื้นของชาวบ้าน ตามข้อเสนอมาตรการที่ 1 ได้เป็นผลสำเร็จ