ผลกระทบต่อชุมชน กรณีเหมืองหิน ต.ดงมะไฟ จ.หนองบัวลำภู
บริบทพื้นที่
“ภูผาฮวก” เป็นแหล่ง “หน่อไม้ฮวก” ที่สมบูรณ์ ที่ชาวบ้านได้พึ่งพิงหา อยู่หากินมาแต่ครั้งอดีต ปัจจุบันเป็นที่ตั้งของเหมืองแร่หินอุตสาหกรรมชนิดหินปูน (เพื่ออุตสาหกรรมก่อสร้าง) อยู่ในเขตบ้านผาซ่อน หมู่ที่ 7 บ้านโชคชัย หมู่ที่ 8 และหมู่ที่ 12 ตำบลดงมะไฟ อำเภอสุวรรณคูหา จังหวัดหนองบัวลำภู โดยพื้นที่ป่าแถบนั้นชาวบ้านเรียกกันว่า ป่าชุมชนเขาเหล่าใหญ่-ผาจันได อยู่ในเขตป่าสงวนแห่งชาติป่าเก่ากลอยและป่านากลาง ลักษณะพื้นที่เป็นภูเขาหินปูน สูงจากระดับน้ำทะเลปานกลาง 260-330 เมตร โดยในบริเวณนี้มีทั้งหมด 8 ลูก ได้แก่ ภูผาน้ำลอด ภูผาโขง ภูผาจันได ภูผาฮวก ภูผายา ภูผาอีดำ ภูผาซาง ภูผาซ่อน มีลำห้วยสำคัญ อาทิ ลำห้วยปูน ลำห้วยสาวโฮ ห้วยปอบ ลำห้วยหว้า ห้วยโสกเสือ ชาวบ้านใช้ประโยชน์ในการทำนา เลี้ยงสัตว์ และปลูกผักในฤดูแล้ง
มิถุนายน 2555 จากการสำรวจของชาวบ้าน พบว่าพื้นที่ดังกล่าวเป็นป่าต้นน้ำ มีความอุดมสมบูรณ์ของพันธุ์พืช พันธุ์สัตว์ สมุนไพร ชาวบ้านมีรายได้จากป่ามากกว่า 22 ล้านบาทต่อปี ซึ่งเป็นเม็ดเงินที่หมุนเวียนภายในชุมชน ทั้งนี้ชุมชนได้มีการบริหารจัดการให้สามารถใช้ประโยชน์ได้อย่างยั่งยืน
ในพื้นที่ตำบลดงมะไฟ มีแหล่งโบราณคดีที่สำคัญคือ ภาพเขียนสีก่อนประวัติศาสตร์ภูผายา โดยกรมศิลปากรได้มีประกาศในราชกิจจานุเบกษาเมื่อปี 2548 และมีถ้ำในบริเวณใกล้เคียงที่พบร่องรอยทางประวัติศาสตร์ ทั้งนี้เมื่อปี พ.ศ. 2555 สำนักงานท่องเที่ยวและกีฬาจังหวัดหนองบัวลำภู ได้มีการเก็บข้อมูลบริเวณพื้นที่ภูผายา ถ้ำผาโขง และมีแนวทางในการพัฒนาพื้นที่ดังกล่าวเป็นพื้นที่ท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์
ดาวน์โหลดเอกสาร ผลกระทบต่อชุมชน กรณีเหมืองหิน ต.ดงมะไฟ จ.หนองบัวลำภู
การขอสัมปทานเหมืองหิน
พ.ศ. 2537 มีผู้ประกอบการยื่นคำขอประทานบัตรเหมืองแร่โดโลมิติกไลม์สโตน บนเนื้อที่ 200 ไร่ ซึ่งเป็นพื้นที่ป่าสงวนแห่งชาติป่าเก่ากลอย และป่านากลาง ต่อมาในปี พ.ศ. 2541 ได้ขอเปลี่ยนเป็นเหมืองหินเพื่ออุตสาหกรรมชนิดหินปูนเพื่ออุตสาหกรรมการก่อสร้าง แต่เนื่องจากพื้นที่บริเวณผายา มีการพบภาพเขียนสีก่อนประวัติศาสตร์ 4,000 ปี ซึ่งต่อมาได้มีการประกาศเป็นแหล่งโบราณคดี ภาพเขียนสีก่อนประวัติศาสตร์ภูผายา ในปี 2548 ทำให้การขอประทานบัตรบริเวณผายาไม่สามารถดำเนินการได้
พ.ศ. 2543 ได้มีประกาศให้เขตพื้นที่ ภูผารวก (ภูผาฮวก) และผาจันได พื้นที่ 175 ไร่ 3 งาน 65 ตารางวา ซึ่งอยู่ในพื้นที่หมู่ที่ 8 บ้านโชคชัย และหมู่ที่ 11 บ้านนาเจริญ เป็นพื้นที่ประทานบัตร ให้ทำการขุดเจาะเพื่อสร้างโรงโม่หิน มีระยะเวลา 10 ปี ตั้งแต่เดือนกันยายน 2543 – 2553 โดยให้เหตุผลว่าพื้นที่ดังกล่าวไม่เป็นพื้นที่ต้นน้ำลำธาร และไม่เหมาะสมเป็นพื้นที่เกษตรกรรม เพราะมีลักษณะเป็นหินลูกรัง
การทำเหมืองหินและโรงโม่หินได้ส่งผลกระทบต่อประชาชนที่อาศัยอยู่บริเวณโดยรอบ ทั้ง เรื่องเสียง ฝุ่นละออง และการที่เศษหินจากการระเบิดปลิวไปตกบนพื้นที่ทำการเกษตร ชาวบ้านจึงรวมตัวกันคัดค้าน ในหลายรูปแบบ โดยในวันที่ 13 กุมภาพันธ์ 2555 กลุ่มอนุรักษ์ป่าชุมชนเขาเหล่าใหญ่-ผาจันได จึงได้มีหนังสือร้องเรียนต่อคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) ให้ทำการตรวจสอบการขอใช้พื้นที่ป่าไม้ การขอประทานบัตร การขออนุญาตตั้งโรงงานและการใช้ระเบิดของโรงโม่หิน และยื่นฟ้องต่อศาลปกครองให้เพิกถอนใบอนุญาต
สิงหาคม 2547 ศาลปกครองชั้นต้น มีคำสั่งคุ้มครองชั่วคราว เป็นเหตุให้ต้องหยุดประกอบการ ต่อมาผู้ถูกฟ้องคดีอันได้แก่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรมขณะนั้นและผู้ประกอบการได้ยื่นอุทธรณ์ ต่อมาเดือนมีนาคม 2552 ศาลปกครองสูงสุดได้มีคำสั่งให้ผู้ประกอบการสามารถดำเนินการทำเหมืองแร่หินต่อไปได้
พ.ศ. 2554 ผู้ประกอบการได้ยื่นหนังสือเพื่อขอต่ออายุประทานบัตร เนื่องมาจากการขอประทานบัตรในครั้งแรกมีการคัดค้านจากประชาชน และการตรวจสอบจากหน่วยงานต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องทำให้ผู้ประกอบการไม่สามารถใช้ประโยชน์ในพื้นที่ได้ โดยการขอประทานบัตรในครั้งที่ 2 กรมป่าไม้ได้อนุญาตให้ผู้ประกอบการใช้ประโยชน์ในพื้นที่ป่าสงวนได้ตั้งแต่วันที่ 10 พฤศจิกายน 2554 ถึงวันที่ 3 กันยายน 2563
24 เมษายน 2555 คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ รายงานผลการตรวจสอบว่า สภาอบต.ดงมะไฟ ไม่เคยมีการประชุมลงมติให้ความเห็นชอบในการอนุญาตให้บริษัทฯ เข้าทำประโยชน์ในพื้นที่พิพาท ซึ่งเป็นพื้นที่ตามคำขอประทานบัตรและต่ออายุประทานบัตรแต่อย่างใด ส่วนเอกสารเกี่ยวกับการประชาคมหมู่บ้าน (บ้านโชคชัย หมู่ที่ 8 และบ้านนาเจริญ หมู่ที่ 11) และเอกสารที่มีการกล่าวอ้างว่า สภาอบต.ดงมะไฟ ให้ความเห็นชอบในเรื่องนี้นั้นเป็นเอกสารปลอม ชาวบ้านจึงแจ้งความดำเนินคดีกับผู้เกี่ยวข้อง และศาลจังหวัดหนองบัวลำภูได้มีคำพิพากษาว่ามีการปลอมเอกสารจริง ตัวแทนชาวบ้าน 78 รายจึงยื่นฟ้องต่อศาลปกครองอุดรธานี ขอให้เพิกถอนหนังสืออนุญาตของผู้ประกอบการในการเข้าทำประโยชน์หรืออยู่อาศัยภายในเขตป่าสงวนแห่งชาติป่าเก่ากลอยและป่านากลาง และเพิกถอนคำสั่งการต่ออายุประทานบัตร
14 มีนาคม 2561 ศาลปกครองอุดรธานีได้มีคำสั่งเพิกถอนหนังสืออนุญาต ตามแบบ ป.ส. 23 ลงวันที่ 10 พฤศจิกายน 2554 ที่อนุญาตผู้ประกอบการเข้าทำประโยชน์ แต่ถึงแม้ศาลจะมีคำสั่งให้เพิกถอนใบอนุญาต แต่ผู้ประกอบการได้ขออุทธรณ์ ทำให้ปัจจุบันทางโครงการจึงยังคงดำเนินกิจการต่อได้ ปัจจุบันอยู่ในขั้นตอนของการขอต่อใบประทานบัตรจากกรมอุตสาหกรรมพื้นฐานและการเหมืองแร่ โดยไม่ต้องทำรายงานอีไอเอใหม่ (รายงานวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อมฉบับเดิมที่ได้มีการจัดทำไว้ตั้งแต่ปี 2542 โดยมีการปรับปรุงรายละเอียดเพิ่มเติมในปี 2543)
ข้อมูลโครงการ
โครงการเหมืองแร่หินปูนอุตสาหกรรม ชนิดหินปูน เพื่ออุตสาหกรรมก่อสร้าง คำขอต่ออายุประทานบัตรที่ 1/2553 (ประทานบัตรที่ 27221/15393) ตั้งอยู่ที่หมู่ 8 ตำบลดงมะไฟ อำเภอสุวรรณคูหา จังหวัดหนองบัวลำภู เนื้อที่ 175-3-65 ไร่ อยู่ในเขตพื้นที่ป่าสงวนแห่งชาติป่าเก่ากลอย - นากลาง ซึ่งเป็นพื้นที่คุณภาพลุ่มน้ำชั้นที่ 2 และอยู่ในเขตแหล่งหินอุตสาหกรรมตามประกาศแหล่งหินของกระทรวงอุตสาหกรรม มีปริมาณสำรองแร่หินปูนประมาณ 46 ล้านเมตริกตัน คิดเป็นมูลค่าประมาณ 4,800 ล้านบาท โดยรัฐจะได้ค่าภาคหลวงประมาณ 194 ล้านบาท
ประทานบัตรการทำเหมืองแร่มีอายุ 10 ปี เริ่มตั้งแต่วันที่ 25 กันยายน 2543 สิ้นสุดอายุวันที่ 24 กันยายน 2553 แต่เนื่องจากได้มีการฟ้องให้เพิกถอนประทานบัตร ทำให้ไม่สามารถดำเนินการได้ในขณะนั้น จึงมีการขอต่ออายุประทานบัตรแปลงนี้ เป็นระยะเวลา 15 ปี ใช้พื้นที่ในการทำเหมืองประมาณ 60 ไร่ โดยจะเว้นพื้นที่ไม่ทำเหมืองตามที่กำหนดไว้ในเงื่อนไขสิ่งแวดล้อมและโดยรอบตามแนวเขตของพื้นที่ไม่น้อยกว่า 10 เมตร การทำเหมืองจะทำโดยวิธีเหมืองหาบ ซึ่งจะเริ่มเปิดการทำเหมืองเพื่อผลิตแร่ที่ระดับความสูงประมาณ 340 เมตรจากระดับน้ำทะเลปานกลาง แล้วทำเหมืองเป็นขั้นบันได ลดระดับลงมาจนถึงระดับต่ำสุดที่ 230 เมตรจากระดับน้ำทะเลปานกลาง ซึ่งจะได้หินอุตสาหกรรมชนิดหินปูน ประมาณ 7,277,000 เมตริกตัน โดยมี อัตราการผลิต 500,000 เมตริกตันต่อปี
ในการพัฒนาเส้นทางและการพัฒนาหน้าเหมือง จะใช้เครื่องเจาะระเบิดแบบตีนตะขาบ ร่วมกับ Jack Hammer วัตถุระเบิดที่ใช้เป็นแบบแอมโมเนียไนเตรตผสมกับน้ำมันดีเซล ใช้วัตถุระเบิดแรงสูงประเภท Dynamite ทำหน้าที่กระตุ้นการระเบิด และมีแก็ปไฟฟ้าแบบถ่วงเวลา เป็นตัวจุดระเบิด ทำการระเบิดไม่เกินวันละ 1 ครั้ง ช่วงเวลาประมาณ 16.00-17.00 น. โดยก่อนการระเบิดทุกครั้งจะจัดเจ้าหน้าที่ตรวจตราภายในรัศมี 100 เมตรและให้สัญญาณเตือนให้ได้ยินในรัศมี 500 เมตร
หินปูนที่ได้จากการระเบิด จะทำการขนส่งโดยรถขุดดิน ร่วมกับรถบรรทุกท้าย ลำเลียงโดยตรงไปยังโรงโม่ บด และย่อยหิน ของบริษัทศิลาโชคชัยภัทร จำกัด ซึ่งเป็นบริษัทในเครือและมีที่ตั้งอยู่ติดกับแนวเขตทางด้านทิศตะวันตกของประทานบัตร ส่วนหินที่มีขนาดใหญ่เมื่อทำการกระแทกด้วย Hydraulic Breaker ให้มีขนาดเหมาะสมแล้ว ก็จะขนส่งไปยังโรงโม่ บดและย่อยหิน เพื่อทำการบดและคัดขนาด หรือเพื่อจำหน่ายตามความต้องการของตลาดต่อไป
ผลกระทบต่อชุมชน
จากการเก็บรวบรวมข้อมูลของชุมชนพบว่า การทำเหมืองหินได้ส่งผลกระทบต่อชุมชนหลายด้าน อาทิ การไม่สามารถเข้าไปใช้ประโยชน์ทรัพยากรจากป่าโดยเฉพาะการหาอาหารธรรมชาติได้ดังเดิม การปักหมุดเขตของโครงการได้รุกล้ำพื้นที่ทำกินของชาวบ้าน การระเบิดทำให้มีเศษหินจากเหมืองตกลงไปในแปลงนาข้าว สวนยางพารา ไร้อ้อย ไร่มันสำปะหลัง สร้างความเสียหายให้กับพืชผลทางการเกษตร บางคนต้องทิ้งพื้นที่ ไม่กล้าเข้าไปดูแลไร่นา เพราะเกรงอันตราย การมีรถบรรทุกขนแร่ขนาดใหญ่ใช้เส้นทางในหมู่บ้านทำให้เสี่ยงต่อการเกิดอุบัติเหตุ เสียงดังและผลกระทบจากฝุ่น จนบางหมู่บ้านไม่ยอมให้รถขนแร่วิ่งผ่าน นอกจากนี้ชาวบ้านบางคนไม่สามารถเดินทางไปที่ทำกินของตนเอง ได้สะดวก เนื่องจากเส้นทางปกติ มีด่านปิดกั้นห้ามบุคคลภายนอกผ่าน เพราะเป็นเส้นทางที่รถบรรทุกขนแร่ออกมาจากเหมือง ทำให้ชาวบ้านต้องเลี่ยงไปใช้เส้นทางอื่นซึ่งต้องอ้อมไกลกว่าเดิม รวมถึงเสียงดังและแรงสั่นสะเทือนจากการบดย่อยหินและขนหิน ทำให้ชาวบ้านอยู่ใกล้กับเหมืองเกิดความเครียด บางคนนอนไม่หลับ
ดาวน์โหลดเอกสาร ผลกระทบต่อชุมชน กรณีเหมืองหิน ต.ดงมะไฟ จ.หนองบัวลำภู