การประเมินผลกระทบทางสุขภาพโดยชุมชน การขอสัมปทานเหมืองหินปูน หมู่บ้านมะหยิ่นกอน เมืองพะอัน รัฐกะเหรี่ยง ประเทศเมียนมาร์



ปัจจุบันหมู่บ้านมะหยิ่นกอนเป็นพื้นที่เรียนรู้กรณีศึกษา CHIA ของประเทศพม่า
ซึ่งนอกจากจะสร้างแรงบันดาลใจให้กับหลายชุมชนในประเทศพม่า
ให้ลุกขึ้นมาทำข้อมูลชุมชนเพื่อเข้าไปมีส่วนร่วมในกระบวนการนโยบายสาธารณะแล้ว
ยังเป็นพื้นที่เรียนรู้ให้กับเครือข่ายมหาวิทยาลัยลุ่มน้ำสาละวิน
ซึ่งมีเครือข่ายนักวิชาการไทย พม่า จีน ได้เรียนรู้ร่วมกันด้วย


พะอันเป็นเหมืองหลวงของรัฐกะเหรี่ยง เป็นเมืองแห่งภูเขา ซึ่งมีหินปูนเป็นทรัพยากรที่สำคัญ มีแม่น้ำสาละวินไหลผ่าน ก่อนที่จะไหลลงสู่ทะเลที่เมืองเมาะลำไย ชาวบ้านในเมืองนี้เป็นชาติพันธุ์กะเหรี่ยง วิถีชีวิตเรียบง่าย พึ่งพาธรรมชาติในการดำรงชีวิต ส่วนใหญ่นับถือศาสนาพุทธ

 

 

หมู่บ้านมะหยิ่นกอน เป็นหมู่บ้านเล็กๆ ในเมืองพะอัน ตั้งอยู่ทางฝั่งตะวันตกของแม่น้ำสาละวินภูมิประเทศ บริเวณรอบหมู่บ้านมีภูเขาหินปูน บนภูเขามีถ้ำจำนวนมาก มีระบบนิเวศที่สมบูรณ์ ในถ้ำมีค้างคาวอาศัย ซึ่งชาวบ้านได้ใช้ขี้ค้างคาวมาเป็นปุ๋ย ในฤดูฝนเมื่อฝนตกลงมา น้ำจะท่วมบริเวณรอบภูเขา และบางส่วนท่วมเข้าไปในถ้ำ ชาวบ้านจะทำประมง และเมื่อถึงฤดูน้ำลด ชาวบ้านจะเริ่มทำนา และในฤดูแล้ง บริเวณรอบภูเขาจะเป็นทุ่งหญ้า เลี้ยงสัตว์ ชาวบ้านมาไม้ไปทำฟืน

 

 

ด้วยสภาพภูมิประเทศเป็นภูเขาหินปูน ทำให้มีบริษัทยื่นขอสัมปทานทำเหมืองซีเมนต์ โดยอ้างว่า ชาวบ้านไม่สามารถใช้ประโยชน์พื้นที่โดยรอบภูเขาได้เนื่องจากน้ำท่วม แต่ชาวบ้านได้ยื่นเรื่องคัดค้านและไม่อนุญาตให้ระเบิดภูเขาทำปูนซีเมนต์

 

 

ในช่วงปี พ.ศ. 2555 - 2556 ชาวบ้านในพื้นที่ได้รับการสนับสนุนจากเบดาร์ (Bedar) ซึ่งเป็นองค์กรพัฒนาเอกชนจากย่างกุ้งที่ทำงานสนับสนุนการจัดตั้งในชุมชนท้องถิ่น (community organizing) โดยเบดาร์ได้ส่งตัวแทนนักจัดตั้งชุมชนเข้ามาช่วยงานในชุมชนและจัดกิจกรรมต่าง ๆ เช่น การจัดประชุมเชิงปฏิบัติการเพื่อประเมินศักยภาพของชุมชนและผู้มีส่วนเกี่ยวข้องในชุมชนมะหยิ่นกอน การฝึกอบรมให้ความรู้เรื่องสิ่งแวดล้อม สิทธิมนุษยชนและสิทธิชุมขน การประสานงานและทำงานเพื่อจัดตั้งกลุ่มต่าง ๆ ในการเคลื่อนไหวภายในชุมชนโดยมีแนวทางกว้าง ๆ ที่ตัวแทนในชุมชนตกลงกัน 6 ประการ ได้แก่ 1) การรณรงค์และเคลื่อนไหวชาวบ้านที่อาศัยอยู่รอบภูเขา 2) การสร้างความตระหนักรู้ให้กับเยาวชน 3) การแสวงหาข้อมูลเกี่ยวกับโครงการ 4) การใช้ประโยชน์จากความเชื่อและธรรมเนียมประเพณีปฏิบัติของชุมชน 5) การใช้อำนาจต่อรองจากประชาชน และ 6) การใช้สื่อ

นักจัดตั้งชุมชนของเบดาร์และแกนนำชุมชนมะหยิ่นกอน ซึ่งประกอบด้วย พระสงฆ์ ครู ผู้ใหญ่บ้านและแกนนำเยาวชนได้ร่วมมือกันในการทำงานเผยแพร่ข้อมูลและสร้างความตระหนักรู้ให้กับคนในชุมชนเกี่ยวกับโครงการเหมืองซีเมนต์และสำนึกความเข้าใจในทรัพยากรธรรมชาติท้องถิ่นของชุมชน โดยทำงานดังกล่าวผ่านครูด้วยการจัดประกวดวาดภาพศิลปะซึ่งให้เด็กและเยาวชนเรียนรู้ทรัพยากรในท้องถิ่นรอบ ๆ ภูเขา ผ่านการประชุมระหว่างแกนนำหมู่บ้านและพระสงฆ์ในหมู่บ้าน และผ่านการจัดตั้งกลุ่มผู้หญิง เป็นต้น  ในระยะเวลาดังกล่าว นักจัดตั้งชุมชนของเบดาร์และแกนนำเยาวชนบางส่วนได้สนับสนุนให้ชาวบ้านเริ่มทำการศึกษาเก็บข้อมูลเกี่ยวกับการใช้ประโยชน์จากทรัพยากรบนภูเขาและพื้นที่โดยรอบ ซึ่งเป็นการเก็บข้อมูลในเชิงปริมาณและเน้นเรื่องเศรษฐกิจชุมชน เช่น  การเก็บข้อมูลดังกล่าวทำให้ชาวบ้านได้ข้อมูลมามากมายแต่ไม่รู้ว่าจะจัดระบบและใช้ข้อมูลดังกล่าวอย่างไรในการรณรงค์และนำเสนอข้อมูลสำหรับการตัดสินใจในโครงการ

 

 

ตุลาคม ปี พ.ศ. 2557 ได้มีการจัดประชุมเชิงปฏิบัติการ การประเมินผลกระทบด้านสุขภาพโดยชุมชนเป็นครั้งแรกของพม่า ที่กรุงย่างกุ้งองค์กรพัฒนาเอกชนและภาคประชาสังคม ที่ทำงานในพื้นที่นี้ได้เข้าร่วม การประชุมเชิงปฏิบัติการนี้ด้วย และเห็นความสำคัญของแนวคิดและกระบวนการ CHIA จึงได้นำมาปรับใช้ร่วมกันกับกระบวนการจัดตั้งชุมชนที่ได้ทำมาก่อนหน้า

การประเมินผลกระทบด้านสุขภาพโดยชุมชน กรณี การขอสัมปทานเหมืองหินทำปูนซีเมนต์ ที่หมู่บ้านมะหยิ่นกอน เริ่มขึ้นเมื่อเดือนธันวาคม พ.ศ. 2557 โดยการจัด workshop ครั้งแรก เริ่มจากการเข้าไปทำความรู้จักกับพระ ผู้นำชาวบ้าน และชาวบ้าน ลงพื้นที่ ดูสภาพแวดล้อม ภูเขาที่จะมีการสัมปทาน ทำความเข้าใจแนวคิด หลักการ กระบวนการทำงาน CHIA ซึ่งมี 6 ขั้นตอน / กฎหมายและขั้นตอน / กระบวนการผลิตซีเมนต์ / การอนุมัติอนุญาต / และกรณีศึกษาในประเทศไทย นอกจากนี้ได้มีการฝึกการใช้เครื่องมือแผนที่ชุมชนและ Timeline เพื่อให้ชุมชนได้รู้จักตนเอง

 

 

หลังจากการประชุมเชิงปฏิบัติการ ครั้งที่ 1 ชาวบ้านที่เข้าร่วมได้ไปชวนคนในหมู่บ้านให้ช่วยกันทำแผนที่และข้อมูล Timeline นอกจากนี้ทางด้านนักจัดตั้งชุมชนและแกนนำหมู่บ้านมะหยิ่นกอนได้ขยายการทำงานจาก 1 หมู่บ้านคือมะหยิ่นกอนในครั้งแรกเป็น 10 หมู่บ้านรอบภูเขา

ในการประชุมเชิงปฏิบัติการ ครั้งที่ 2 ชาวบ้านตัวแทนจาก 10 หมู่บ้านได้มีการนำเสนอข้อมูลหมู่บ้านตนเอง จากนั้นได้นำมาเชื่อมต่อกันทั้งแผนที่และ Timeline และให้มีการเรียนรู้ข้อมูลผลกระทบจากการทำซีเมนต์เพิ่มเติมจากนักวิชาการ หลังจากนั้น ชาวบ้านได้นำแผนที่และtimeline ไปปรึกษาหารือกับชาวบ้านทีละหมู่บ้าน เพื่อตรวจสอบความถูกต้องของข้อมูล และการประชุมเชิงปฏิบัติการ ครั้งที่ 3 เป็นการเขียนรายงาน โดยชาวบ้านที่เป็นทีมทำงานได้ร่วมกันกำหนดเค้าโครงรายงาน รวมถึงหัวข้อย่อย จากนั้นได้มอบหมายไปเขียน

การประชุมเชิงปฏิบัติการ ครั้งที่ 4  เป็นการตรวจสอบความถูกต้องของเนื้อหาในรายงานและจัดทำข้อเสนอเชิงนโยบาย (Document review และ recommendation) เป็นกระบวนการให้ชาวบ้านที่เขียนรายงานได้มานำเสนอต่อกลุ่ม และชุมชนได้ร่วมกันพิจารณาความถูกต้องของข้อมูล โดยไล่เรียงเนื้อหาไปทีละหน้าไปด้วยกัน โดยเฉพาะในส่วนของข้อเสนอซึ่งแบ่งเป็นข้อเสนอต่อรัฐบาลกลาง รัฐบาลท้องถิ่น และข้อเสนอต่อชุมชน นอกจากนี้ แกนนำชุมชนและตัวแทนของหมู่บ้านได้มีข้อสรุปถึงอัตลักษณ์ของฐานทรัพยากรในชุมชนทั้ง 10 หมู่บ้าน คือ ภูเขา ซึ่งชาวบ้านให้นิยามว่าเป็น “มารดาแห่งชนรุ่นต่างๆ “(The Mother of Generations) และได้วิเคราะห์สรุปถึงความเชื่อมโยงของคุณค่าวัฒนธรรมและประเพณีของชุมชน ฐานทรัพยากรต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับภูเขาและการดำรงชีพของชาวบ้านในชุมชนผ่านปฏิทินชุมชน

วันที่ 11 ธันวาคม 2558 ชาวบ้านจัดงานวันภูเขาโลก ได้มีการนำข้อมูลที่ได้มาจัดนิทรรศการเพื่อสร้างการเรียนรู้กับคนในชุมชน และได้มีการนำเสนอข้อมูลผลการศึกษา โดยเฉพาะคุณค่าของชุมชน ที่แสดงความสัมพันธ์ระหว่างวิถีชีวิต เศรษฐกิจชุมชน กับ ระบบนิเวศภูเขา และข้อเสนอทิศทางการพัฒนาหมู่บ้าน สอดคล้องกับวิถีของชุมชน เพื่อให้ชุมชนช่วยกันทบทวน

วันที่ 27 กันยายน 2559 ชาวบ้านเตรียมนำเสนอข้อมูลที่ได้จากกระบวนการทำ CHIA ต่อสาธารณะ โดยเฉพาะต่อรัฐบาลท้องถิ่นเพื่อสร้างการมีส่วนร่วมตัดสินใจเลือกการพัฒนาที่สอดคล้องกับวิถีชุมชน นอกจากนี้ทางโรงเรียนยังนำข้อมูลจากการทำเป็นไปพัฒนาเป็นหลักสูตรท้องถิ่นให้เด็กๆ ได้เรียนรู้เรื่องราวชุมชนของตนเองอีกด้วย

 

ปัจจุบันหมู่บ้านมะหยิ่นกอนเป็นพื้นที่เรียนรู้กรณีศึกษา CHIA ของประเทศพม่า ซึ่งนอกจากจะสร้างแรงบันดาลใจให้กับหลายชุมชนในประเทศพม่าให้ลุกขึ้นมาทำข้อมูลชุมชนเพื่อเข้าไปมีส่วนร่วมในกระบวนการนโยบายสาธารณะแล้ว ยังเป็นพื้นที่เรียนรู้ให้กับเครือข่ายมหาวิทยาลัยลุ่มน้ำสาละวิน ซึ่งมีเครือข่ายนักวิชาการไทย พม่า จีน ได้เรียนรู้ร่วมกันด้วย