การประเมินผลกระทบทางสุขภาพโดยชุมชน กรณีเหมืองถ่านหิน กะเบอะดิน
รีวิว กะเบอะดิน – ดินแดนมหัศจรรย์
สมพร เพ็งค่ำ
CHIA Platform in Southeast Asia
ประมาณ 2 ปี ก่อน ทราบว่า มีการขอสัมปทานทำเหมืองถ่านหินที่ อ.อมก๋อย ซึ่งเป็นชุมชนของกลุ่มชาติพันธุ์กะเหรี่ยง ทางบริษัทได้ลงพื้นที่ทำ EIA แล้ว แต่ชาวบ้านยังไม่มีข้อมูลเกี่ยวกับเรื่องนี้มากนัก ทำให้เรานึกถึงกรณี ชุมชนกลุ่มชาติพันธุ์แห่งหนึ่งทางภาคเหนือ ที่เคยทำเหมืองถ่านหินในลักษณะเดียวกันนี้ พบว่า ผลกระทบจากการทำเหมืองถ่านหิน ไม่ได้มีปัญหาแค่เรื่องสิ่งแวดล้อม แต่ความรุนแรงกลับเป็นประเด็นทางสังคมและสุขภาพ เนื่องจากตอนแรกชาวบ้านดีใจว่าเหมืองจะช่วยให้มีรายได้เพิ่มขึ้น ผู้ชายส่วนใหญ่จึงไปเป็นคนงานเหมือง ส่วนผู้หญิงรับภาระการทำงานในไร่ เลี้ยงลูก และดูแลบ้าน การทำงานหนักในเหมืองทำให้ต้องพึ่งยาบ้าหรือยาขยัน รายได้จึงหมดไปกับค่ายาเสพติด เป็นเหตุให้ สามี ภรรยา ทะเลาะกัน ครอบครัวแตกแยก ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมเสื่อมโทรม ดังนั้นพอเหมืองดำเนินการมาครบ 10 ปี หมดอายุสัมปทาน ชุมชนจึงพร้อมใจกันปฏิเสธ ไม่ยอมให้ต่ออายุสัปทาน
ในส่วนของ กะเบอะดิน เราได้รับการประสานจากกรีนพีชว่า ชุมชนและเครือข่าย ต้องการที่จะทำข้อมูลชุมชนและประเมินผลกระทบที่อาจจะเกิดขึ้นจากโครงการ จึงอยากให้แบ่งปันประสบการณ์เกี่ยวกับการประเมินผลกระทบทางสุขภาพโดยชุมชน ( Community Health Impact Assessment – CHIA) โดยเน้นว่า ขอเป็นความรู้ในเชิงวิชาการ แนวคิด และทฤษฎี ที่เกี่ยวข้องกับเรื่องนี้ เป็นครั้งแรกที่ทำงานกับชุมชนแล้วบอกว่า อยากได้กรอบแนวคิดทางวิชาการก่อนลงมือปฏิบัติ จึงเป็นความประทับใจแรก สำหรับเครือข่ายชุมชนนี้ จากนั้นก็เฝ้าติดตามการทำงานมาโดยตลอด จนกระทั่งได้อ่านงานชิ้นนี้
“กะเบอะดิน ดินแดนมหัศจรรย์”
แก่นของเรื่อง คือการแสดงข้อมูลหลักฐานเชิงประจักษ์เพื่อปกป้องสิทธิชุมชน จากปฏิบัติการภายใต้แนวคิด การประกอบสร้างความรู้ร่วม (Co-production of knowledge) คือ กระบวนการของชุมชนในการศึกษา ค้นคว้า เรียบเรียงข้อมูล ความรู้ของชาวบ้าน (Lay/Community Knowledge) อย่างเป็นระบบ แล้วมาผสานกับความรู้ของผู้เชี่ยวชาญในสาขาวิชาต่างๆ (Expert Knowledge) และร่วมกันคาดการณ์ว่า เหมืองถ่านหินจะส่งผลกระทบต่อชุมชนในมิติไหน อย่างไรบ้าง
ภาวะความไม่ไว้เนื้อเชื่อใจต่อกระบวนการประเมินผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมและสุขภาพที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน สาเหตุหลักมาจากความไม่เป็นธรรมทั้งจากโครงสร้างเชิงระบบและวิธีการประเมินผลกระทบที่มีความเหลื่อมล้ำโดยเฉพาะอำนาจด้านความรู้
กระบวนการทำงานของชุมชนกะเบอะดินและเครือข่าย ได้แสดงตัวอย่างรูปธรรม ระเบียบวิธีวิทยาการประเมินผลกระทบ ที่สร้างสมดุลอำนาจทางความรู้ระหว่างชุมชนกับผู้เชี่ยวชาญ อันมีคุณค่าและคุณูปการต่อวงการวิชาการเป็นอย่างมาก หวังว่า หน่วยงานอนุญาตจะนำข้อมูลหลักฐานชิ้นนี้ไปใช้เพื่อการตัดสินใจอย่างเป็นธรรม