บ้านบางกลอย อ.แก่งกระจาน จ.เพชรบุรี
การสร้างความมั่นคงทางอาหารสำหรับชุมชนชาติพันธุ์กะเหรี่ยงที่ได้รับผลกระทบจากโควิท 19
กรณี บ้านบางกลอย อ.แก่งกระจาน จ.เพชรบุรี
บ้านบางกลอย เป็นหมู่บ้านของกลุ่มชาติพันธุ์กะเหรี่ยง (ปะกากะญอ) ตั้งอยู่ในเขตพื้นที่อุทยานแห่งชาติแก่งกระจาน จ.เพชรบุรี การเดินทางโดยรถยนต์ จากกรุงเทพ ถึงที่ทำการอุทยานฯ ใช้เวลาประมาณ 3 ชั่วโมงและจากอุทยานไปยังหมู่บ้านใช้เวลา 2 ชั่วโมง ทั้งนี้หากเป็นฤดูฝน จะมีบางช่วงที่น้ำจากแม่น้ำเพชรบุรีท่วมถนน ทำให้ไม่สามารถเดินทางเข้าออกหมู่บ้านได้
จากบันทึกข้อมูลของชุมชน ที่สนับสนุนการทำงานโดยศูนย์มานุษยวิทยาสิริธร (อ้างอิง ครูเจริญ รักจงเจริญ ชาวบ้านบางกลอยและครูประจำศูนย์พัฒนาเด็กเล็ก) ระบุว่า ชาวบ้านบางกลอยแต่เดิมตั้งถิ่นฐานอยู่ในบริเวณที่เรียกว่า บางกลอยบน - ใจแผ่นดิน มีวิถีชีวิตความเป็นอยู่แบบเรียบง่ายกับธรรมชาติ สร้างบ้านด้วยไม้ไผ่ มุงหลังคาด้วยใบตะคร้อเป็นบ้านชั้นเดียว แบบไม่ถาวร เนื่องจากต้องหมุนตามไร่ในทุก ๆ 3 ปี ยังชีพด้วยการทำเกษตรแบบผสมผสานเรียกกันว่า “คึ” หรือ “ไร่หมุนเวียน” ที่เป็นภูมิปัญญาสืบทอดกันมาหลายช่วงอายุคนตั้งแต่บรรพบุรุษ นอกจากข้าวแล้ว ในไร่ยังเต็มไปด้วยพืชผักต่าง ๆ มากมาย อาทิ ฟักทอง แตง ถั่ว ขิง ข่า ตะไคร้ ฯลฯ ตลอดทั้งปีแหล่งอาหารจากไร่ทำให้ชาวบ้านไม่ไปทำงานที่อื่นและไม่ต้องเสียค่าใช้จ่ายใด ๆทั้งสิ้น
ปี พ.ศ. 2539 มีการเจรจาเพื่ออพยพชาวบ้านให้ลงมาอยู่ที่หมู่บ้านบางกลอย (หรือที่ปัจจุบันเรียกกันว่าบางกลอยล่าง) โดยกรมทหารราบที่ 29 และเจ้าหน้าที่อุทยานแห่งชาติแก่งกระจาน อ้างว่า ต้นน้ำจะถูกทำลาย และเกี่ยวกับความมั่นคงของชาติ เพราะอยู่ใกล้แนวตะเข็บชายแดน ไทย - พม่า ทั้งนี้เจ้าหน้าที่ได้ให้สัญญากับชาวบ้านว่าจะมีการจัดพื้นที่ทำกินให้ครัวเรือนละ 7 ไร่ และดูแลเรื่องอาหารการกินภายใน 3 ปี
ปี พ.ศ. 2540 ได้มีชาวบ้านย้ายลงมาจำนวน 57 ครอบครัว แต่บางส่วนไม่สามารถดำรงชีพอยู่ได้เนื่องจากปัจจัยหลายอย่าง อาทิ 1) การจัดสรรพื้นที่ทำกินไม่เหมาะต่อการเพาะปลูกมีหินลูกรังมากเกินไป 2) แต่ก่อนชาวบ้านเคยทำแต่ไร่หมุนเวียนเมื่อไม่ที่ให้หมุนเวียนทำให้การปลูกข้าวไม่ได้ผล 3)ชาวบ้านไม่ได้รับการจัดสรรที่ดินทุกคน 4) ชาวบ้านไม่มีทุนในการเพาะปลูกและไม่มีทักษะเกี่ยวกับการเพาะปลูกแบบสมัยใหม่ที่ต้องสูบน้ำจากแม่น้ำถึงจะได้ผล 5) รับจ้างไม่ถนัด พูดภาษาไทยไม่ได้ ไม่มีใครจ้าง ถูกโกงค่าแรง 6) ที่ดินที่ถูกจัดสรรบางส่วนไม่ครบตามที่ตกลงกันไว้ คือ ครอบครัวละ 7 ไร่ แต่ได้รับจริงมี 1 ไร่ 3 ไร่ 4 ไร่ 5 ไร่ ทำให้ความรู้สึกว่าเจ้าหน้าที่ไม่จริงใจในการช่วยเหลือ 7) เกิดโรคระบาดในหมู่บ้าน แต่ไม่กล้าไปโรงพยาบาลเนื่องจากไม่มีบัตรประชาชนและไม่มีเงิน 8) ในปี 2543 มีการฆ่าฟันกันตายภายในหมู่บ้าน ทำให้ชาวบ้านเกิดการหวาดกลัว ซึ่งปัญหาดังกล่าวเป็นปัญหาใหญ่และไม่ได้รับการแก้ไข ชาวบ้านบางส่วนจึงตัดสินใจกลับขึ้นไปอาศัยอยู่ที่เดิม ไปใช้ชีวิตแบบดั้งเดิมซึ่งมีความสุขมากกว่า
ต่อมาในปี 2554 ได้ปฎิบัติการผลักดันชาวบ้านให้กลับลงมาจากบางกลอยบน - ใจแผ่นดิน โดยมีการเผาบ้านเรือน ยุ้งข้าวและ ทำลายข้าวของเครื่องใช้ที่จำเป็นในครัวเรือน เช่น หม้อ มีด จอบ เป็นต้น รวมถึง พืชที่ปลูกไว้ในสวน ทำให้ชาวบ้านได้รับความเดือดร้อนเป็นอย่างมากไม่มีข้าวกิน พี่น้องเครือข่ายกะเหรี่ยงทางภาคเหนือจึงได้ระดมข้าวสารและข้าวเปลือกเพื่อให้ความช่วยเหลือ
วันที่ 4 มิถุนายน 2555 ชาวบ้านบางกลอยจำนวน 6 คนได้ยื่นฟ้องศาลปกครอง จนกระทั่งวันที่ 12 มิ.ย.2561 ศาลปกครองสูงสุดมีคําพิพากษาให้กรมอุทยานแห่งชาติฯ ชดใช้ค่าสินไหมทดแทนให้แก่ผู้ฟ้องคดี แต่ไม่อาจกำหนดคําบังคับให้ผู้ฟ้องคดีกลับไปอยู่อาศัยและทำกินในพื้นที่เดิมได้
การย้ายลงมาอยู่ที่บ้านบางกลอย ทำให้ชาวบ้านต้องปรับเปลี่ยนวิถีชีวิตจากที่เคยทำไร่หมุนเวียนและพึ่งพาทรัพยากรธรรมชาติ มาเป็นการพึ่งพารายได้จากการทำงานรับจ้างเป็นหลัก
ดังนั้นเมื่อเกิดการระบาดของ โควิท -19 ชาวบ้านจึงได้รับผลกระทบอย่างรุนแรง เนื่องจากคนที่ออกไปทำงานรับจ้างนอกหมู่บ้านต้องตกงาน กลับมาหมู่บ้านก็ประสบกับปัญหาเรื่องอาหาร เนื่องจากพื้นที่ทำกินไม่เพียงพอสำหรับการปลูกข้าวเลี้ยงคนได้ทั้งหมู่บ้าน นอกจากนี้ยังไม่สามารถเข้าไปหาอาหารหรือใช้ประโยชน์จากทรัพยากรป่าไม้ได้ เพราะเป็นพื้นที่อุทยานแห่งชาติ ชาวบ้านส่วนใหญ่จึงเป็นหนี้ร้านค้า โดยจะไปเซ็นต์ข้าวสารและอาหารมาก่อน และเมื่อมีงานรับจ้างได้เงินมาก็จะเอามาจ่าย เมื่อไม่มีเงินก็จะไปเซ็นต์อาหารมา หมุนเวียนอยู่แบบนี้
จากสถานการณ์ปัญหาดังกล่าว มูลนิธิสาธารณสุขแห่งชาติ (มสช.) ร่วมกับ สถาบันวิจัยสังคม จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ภายใต้การสนับสนุนงบประมาณ Atlantic Senior Fellows Solidarity Grant และ Equity Initiative Fellows, China Medical Broad Foundation ได้จัดทำโครงการวิจัยเชิงปฏิบัติการเรื่อง “การสร้างความมั่นคงทางอาหารและการปรับตัวของชุมชนชาติพันธุ์กะเหรี่ยงที่ ได้รับผลกระทบจากการระบาดของโรคโควิท – 19 กรณีบ้านบางกลอย อำเภอแก่งกระจาน จังหวัดเพชรบุรี”
ได้สรุปข้อค้นพบเบื้องต้นว่า
- ปัจจุบันบ้านบางกลอยมี 119 ครัวเรือน จำนวนประชากรประมาณ 1500 คน สำหรับครอบครัวที่ได้รับการจัดสรรที่ดินทำกิน จะประกอบอาชีพเกษตรกรรมโดยจะปลูกข้าว กล้วย กาแฟ เป็นต้น ส่วนคนที่ไม่มีที่ดินทำกินจะไปรับจ้างภายนอกหมู่บ้าน ผู้หญิงรับจ้างทอผ้า ด้านการศึกษา เด็ก ๆ จะเดินไปเรียนหนังสือที่โรงเรียนตำรวจตระเวนชายแดน ซึ่งอยู่ที่หมู่บ้านโป่งลึก ติดกับบ้านบางกลอย และมีศูนย์เล็กเด็กด้วย ด้านการสาธารณสุข ประชาชนได้รับสิทธิหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า แต่ชาวบ้านบางส่วนที่ไม่มีบัตรประชาชนไทยจะเข้าไม่ถึงสิทธิด้านการรักษาพยาบาล
- ชาวบ้านส่วนใหญ่ไม่มีที่ดินทำกิน ทำให้หมู่บ้านไม่สามารถผลิตข้าวได้เพียงพอสำหรับคนทั้งหมู่บ้าน แม้ว่าที่ผ่านมามีหลายหน่วยงานได้เข้ามาทำงานพัฒนาในพื้นที่นี้ แต่เป็นโครงการที่เข้ามาปรับเปลี่ยนวิถีการเพาะปลูก ที่ไม่สอดคล้องกับวิถีของชาติพันธุ์กะเหรี่ยง ทำให้โครงการไม่ยั่งยืน
- ชาวบ้านบางส่วนไม่มีบัตรประชาชนไทย ทำให้เข้าไม่ถึงสิทธิความเป็นพลเมืองไทย เคยเกิดกรณีที่เด็กป่วย แต่พ่อแม่เด็กไม่กล้าพาไปรักษาเนื่องจากไม่มีบัตรประชาชนและฐานะยากจน ปัจจุบันเด็กเสียชีวิตแล้ว ส่วนชาวบ้านที่มีบัตรประชาชนไทย แม้ว่าจะได้รับสิทธิหลักประกันสุขภาพแต่ก็ไม่สามารถเข้าถึงระบบบริการสุขภาพได้โดยง่าย เนื่องจากพื้นที่ห่างไกล และยากจน เมื่อเจ็บป่วยจึงไม่มีเงินค่าเดินทางไปโรงพยาบาล (ค่าเหมารถรับจ้างไป-กลับ 4000 บาท ) รวมถึงหากต้องพักรักษาตัวในโรงพยาบาลจะมีค่าใช้จ่ายมากขึ้นสำหรับญาติที่ไปเฝ้าทั้งค่าที่พัก ค่าอาหาร ตลอดจนข้อจำกัดด้านภาษาที่ชาวบ้านส่วนหนึ่งพูดภาษากะเหรี่ยง ไม่สามารถสื่อสารภาษาไทยได้ดีนัก ดังนั้นจึงมีกรณีที่ เด็กเล็กเจ็บป่วยและเสียชีวิตระหว่างทาง ไม่สามารถไปโรงพยาบาลได้ทัน
- จากการประเมินเบื้องต้น พบปัญหาคุณภาพชีวิตโดยรวม ได้แก่ พัฒนาการเด็กต่ำกว่าเกณฑ์มาตรฐาน ขาดการวางแผนครอบครัวและการคุมกำเนิด ชาวบ้านมีระบบน้ำประปาหมู่บ้าน แต่เป็นการสูบน้ำดิบจากแม่น้ำ โดยตรง มาใช้ทั้งการอุปโภคและบริโภค โดยไม่มีระบบกรองน้ำดื่มที่ถูกสุขอนามัย
- จากข้อมูลบันทึกของเด็กเกี่ยวกับอาหารที่รับประทานในแต่ละวัน พบว่า อาหารไม่เพียงพอ และโภชนาการไม่เหมาะสม เช่น บางมื้อ เด็กกินเพียงข้าวเปล่ากับเกลือ หรือ ผักต้ม ขาดโปรตีน
- กรณี โควิท -19 แม้ว่ารัฐบาลไทยจะมีนโยบายความช่วยเหลือผู้มีรายได้น้อย แต่ชาวบ้านบางกลอยไม่สามารถเข้าถึงความช่วยเหลือของรัฐได้ เนื่องจากต้องลงทะเบียนผ่าน ดิจิตอล platform ซึ่งชาวบ้านมีมีความรู้และทักษะในการใช้เทคโนโลยี ลงทะเบียนขอรับความช่วยเหลือจากรัฐ
ผลกระทบจากการระบาดของโควิท – 19 ทำให้ชาวบ้านบางกลอย ต้องเผชิญกับชีวิตที่ยากลำบากโดยเฉพาะเรื่องการขาดแคลนอาหาร ทำให้ชาวบ้านส่วนหนึ่งตัดสินใจเดินกลับไปที่บางกลอยบน เพื่อจะปลูกข้าว ทำไร่หมุนเวียน จึงได้เกิดปฏิบัติการจับกุมชาวบ้านที่ขึ้นเตรียมทำกินในพื้นที่เดิมและผลักดันให้กลับลงมาที่บางกลอยล่างอีกครั้ง
การย้ายออกจากถิ่นฐานดั้งเดิมที่ขาดการเตรียมความพร้อมที่เหมาะสมในทุกด้าน ทำให้ชาวบ้านประสบกับปัญหาทุกขภาวะและขาดความมั่นคงของชีวิต