ตือโละปาตานี วิถีการพัฒนาอย่างยั่งยืน
การประเมินผลกระทบทางสุขภาพโดยชุมชน กรณี โครงการโรงไฟฟ้าถ่านหินเทพา
พฤษภาคม 2561
“ตือโละปาตานี” เป็นภาษามาลายู โดย “ตือโละ” แปลว่า อ่าว ส่วน “ปาตา” หมายถึง ชายหาด หรือที่เรารู้จักกันในนาม “อ่าวปัตตานี” ชาวประมงพื้นบ้านเล่าว่า มีขอบเขตตั้งแต่ชายฝั่งทะเล อำเภอเทพา จังหวัดสงขลา ผ่านอำเภอหนองจิก อำเภอเมือง อำเภอยะหริ่ง
ไปจรดแหลมตาชี จังหวัดปัตตานี มีทั้งส่วนที่เป็นทะเลนอก เรียกว่า “ลาโอะ ลูวา” ทะเลใน เรียกว่า “ลาโอะ ดาแล” และป่าชายเลน ใต้ท้องทะเลมีกองหินธรรมชาติจำนวนมาก ทั้งที่มีชื่อและไม่มีชื่อ อาทิ กองหินตาแซะ กองหินตูวอ กองหินบางน้ำผึ้ง ฯลฯ มีแนวปะการังยาวตลอดชายฝั่ง ทั้งที่เป็นปะการังธรรมชาติและปะการังเทียม มีดอนสันทรายกลางทะเล ชื่อ ดอนผีสิง
ระบบนิเวศ เป็นแบบทะเลตมและป่าชายเลน การไหลเวียนของน้ำเป็นแบบผสมผสานระหว่างน้ำจืด น้ำเค็ม และน้ำกร่อย มีปากแม่น้ำ ที่ไหลลงทะเลทางฝั่งตะวันตกของอ่าว ได้แก่ ปากน้ำสะกอม ปากนำ้เทพา ปากคลองเกาะแลหนัง ปากคลองบางราพา ปากคลองตันหยงเปาว์ ปากคลองสายหมอ ปากคลองบางตาวา ปากคลองบางปลาหมอ และปากแม่น้ำปัตตานี โดยแม่น้ำลำคลองเหล่านี้มีต้นกำเนิดจากเทือกเขาสันกาลาคีรี ไหลผ่านป่าชายเลนผืนใหญ่สองแปลงเนื้อที่รวมกันนับหมื่นไร่ คือ ป่าชายเลนคลองตูหยง และ ป่าชายเลน
บางปู ซึ่งเป็นแหล่งอนุบาลสัตว์นำ้วัยอ่อน ตะกอนจากปากนำ้ที่ไหลลงอ่าวปัตตานีนี้ ทำให้เกิดความอุดมสมบูรณ์ตามธรรมชาติ เนื่องจากเป็นแหล่งอาหารของสัตว์น้ำ
ลักษณะเด่นของพื้นที่นี้คือ พบสาหร่ายผมนางและหญ้าทะเลอยู่มาก โดยเฉพาะ “หญ้าอำพัน” ซึ่งเป็นชนิดที่พะยูนชอบกินมากที่สุด พะยูน เป็นสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมที่มีแนวโน้มใกล้สูญพันธุ์ ประเทศไทยพบพะยูนน้อยมากทั้งฝั่งอ่าวไทยและฝั่งอันดามัน ชาวบ้านแถบนี้เรียก“พะยูน” ว่า “ตูหยง” หรือ “ดูหยง” และเคยพบว่ามีพะยูนมาหากินบริเวณอ่าวปัตตานีมาแล้วหลายปี
คลิกที่รูปเพื่อ Download ไฟล์ขนาด 24.2 MB