เอชไอเอชุมชน การประเมินผลกระทบด้านสุขภาพโดยชุมชน


การประเมินผลกระทบด้านสุขภาพของชุมชนไทย ไม่ใช่เรื่องใหม่ หากแต่มีการทำมานานแล้ว โดยมีจารีต ประเพณี วิถีและความเชื่อของชุมชน เป็นตัวกำกับว่าอะไรควรทำและไม่ควรทำ ที่ไหน เมื่อไหร่ อย่างไร ซึ่งมองความสัมพันธ์ของสิ่งต่างๆ ในชุมชนเป็นแบบองค์รวม เป็นความสัมพันธ์ระหว่างคนกับคน คนกับธรรมชาติ และคนกับสิ่งเหนือธรรมชาติ เช่น ความเชื่อในเรื่องของผีปู่ตา พระแม่คงคา พระแม่โพสพ หรือคนอีสานเชื่อในเรื่อง ขลำ (ทำแล้วจะเกิดสิ่งไม่ดี) เป็นต้น โดยที่ก่อนจะทำกิจกรรมใดๆ คนในชุมชนมักจะมีการพูดคุยปรึกษาหารือจนได้ข้อสรุปร่วมกันก่อนที่จะลงมือทำอยู่เสมอ

 

พอครั้นประเทศไทยเข้าสู่การพัฒนาสมัยใหม่ มีการใช้เทคโนโลยีที่ซับซ้อนมากขึ้น ส่งผลกระทบในวงกว้างมากขึ้น การประเมินผลกระทบทางด้านสิ่งแวดล้อมหรืออีไอเอ (Environmental Impact Assessment: EIA) จึงได้ก้าวเข้ามาแทนที่กระบวนการแบบชาวบ้าน ความรู้ จารีต และความเชื่อต่างๆ ของท้องถิ่น ถูกลดทอนคุณค่าและนำมาใช้พิจารณาประกอบการประเมินผลกระทบน้อย เหตุเพราะไม่ใช่งานวิชาการและพิสูจน์ไม่ได้ทางวิทยาศาสตร์ โดยเฉพาะมิติจิตวิญญาณของชุมชน

 

หลัง พรบ.สุขภาพแห่งชาติประกาศใช้และได้รับรองเรื่องเอชไอเอไว้ในหมวดสิทธิและหน้าที่ด้านสุขภาพรวมถึงรัฐธรรมนูญบัญญัติในหมวดสิทธิชุมชน กระบวนการเอชไอเอของชุมชนจึงถูกพลิกฟื้นกลับมาอีกครั้งและยกระดับให้เป็นส่วนหนึ่งของระบบและกลไกเอชไอเอประเทศไทย เพื่อพัฒนาแนวคิด และแนวทางการประเมินผลกระทบทางสุขภาพในระดับชุมชน พัฒนาศักยภาพชุมชนในการนำการประเมินผลกระทบทางสุขภาพ ไปใช้เป็นเครื่องมือสร้างชุมชนสุขภาวะ และใช้ในการป้องกันและแก้ไขปัญหาผลกระทบจากนโยบายสาธารณะ

 

ดาวน์โหลดเอกสารฉบับเต็มได้ที่ภาพด้านล่างนี้