กรณีเหมืองแร่ทองคำชาตรี บริษัท อัครา รีซอร์สเซส จำกัด (มหาชน) จ.พิจิตร
โครงการวิจัย เรื่อง “การเฝ้าระวังผลกระทบทางสุขภาพโดยชุมชน กรณีศึกษาการประกอบกิจการเหมืองแร่ทองคำของบริษัท อัครา รีซอร์สเซส จำกัด (มหาชน)
บริษัท อัครา รีซอร์สเซส จำกัด (มหาชน) ได้รับใบอนุญาตทำเหมืองแร่ทองคำและโรงแต่งแร่ทองคำ เมื่อปี พ.ศ. 2543 จนเมื่อปี พ.ศ. 2557 เริ่มมีชาวบ้านร้องเรียนเกี่ยวกับผลกระทบทางด้านสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ อย่างต่อเนื่องมาจนถึง มีการตรวจพบโลหะหนักในร่างกายของชาวบ้านบริเวณรอบเหมืองเกินค่ามาตรฐาน มีการทำหนังสือร้องเรียนไปยังคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) และหน่วยงานภาครัฐที่เกี่ยวข้อง จังหวัดพิจิตรได้แต่งตั้งคณะทำงานตรวจสอบและแก้ไขปัญหาผลกระทบฯ แต่ไม่สามารถแก้ไขปัญหาดังกล่าวได้
หัวหน้า คสช. สั่งให้กระทรวงอุตสาหกรรม, กระทรวงสาธารณสุข, กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม และกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีดำเนินการตรวจสอบข้อเท็จจริงและแก้ไขปัญหา 4 ด้าน ได้แก่ สุขภาพ, สิ่งแวดล้อม, การรั่วซึมของบ่อกักเก็บกากแร่ที่ 1 และผลกระทบจากฝุ่นละออง แต่ไม่สามารถสรุปได้ว่า ผลกระทบต่างๆ เกิดจากการทำเหมืองทองคำของบริษัท อัคราฯ หรือไม่ เนื่องจากข้อจำกัดด้านข้อมูล
ต่อมา หัวหน้า คสช. ได้ใช้อำนาจตามมาตรา 44 สั่งให้ผู้ประกอบการทองคำทุกรายทั่วประเทศระงับการประกอบกิจการเหมืองแร่ทองคำ และระงับการออกประทานบัตรและใบอนุญาตสำรวจแร่เป็นการชั่วคราว บริษัท คิงส์เกตฯ (บริษัทแม่) จึงยื่นหนังสือแจ้งการละเมิดความตกลงระหว่างประเทศ และได้ยื่นฟ้องรัฐบาลไทยในเดือนพฤศจิกายน 2560 ปัจจุบัน คณะอนุญาโตตุลาการยังไม่ได้ออกคำชี้ขาดและยังคงอยู่ในระหว่างการเจรจาแก้ไขปัญหาข้อพิพาทร่วมกัน ซึ่งยังไม่ได้ข้อยุติ
เดือนมีนาคม 2566 จังหวัดพิจิตร เชิญหลายหน่วยงานเข้าไปหารือถึงการตรวจสอบการดำเนินกิจการของเหมืองทองคำอัคราก่อนเปิดดำเนินการ โดยกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) เสนอว่า ควรมีหน่วยงานกลางที่ไม่เกี่ยวข้องกับฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งเข้ามาเป็นผู้ตรวจสอบ และทำฐานข้อมูลสุขภาพและสิ่งแวดล้อมเพื่อเปรียบเทียบความเปลี่ยนแปลงที่อาจเกิดขึ้นในอนาคต และมีความเห็นร่วมกันกับรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขว่าควรมีการพัฒนาระบบเฝ้าระวังผลกระทบทางสุขภาพขึ้น โดยให้ทางสถาบันวิจัยระบบสาธารณสุข (สวรส.) สนับสนุนการดำเนินงานโดยนำกรอบแนวคิดและแนวทางจากโครงการพัฒนาระบบเฝ้าระวังผลกระทบทางสุขภาพโดยชุมชน จังหวัดน่าน ประเทศไทย กรณีมลพิษข้ามพรมแดนจากโรงไฟฟ้าถ่านหินหงสาประเทศลาวมาปรับใช้
มูลนิธิเครือข่ายพัฒนาศักยภาพผู้นำสร้างสุขภาวะ (ม.คศน.) ได้รับทุนวิจัยจาก สวรส. ในการจัดทำโครงการวิจัย เรื่อง “การเฝ้าระวังผลกระทบทางสุขภาพโดยชุมชน กรณีศึกษาการประกอบกิจการเหมืองแร่ทองคำของบริษัท อัครา รีซอร์สเซส จำกัด (มหาชน) ” ซึ่งเป็นการวิจัยเชิงปฏิบัติการแบบมีส่วนร่วม ประกอบไปด้วย 4 ขั้นตอน ได้แก่ 1) การวิเคราะห์แหล่งกำเนิดและจัดทำเส้นทางมลพิษที่เชื่อมโยงกับกลุ่มเสี่ยง 2) การพัฒนาเครื่องมือสำหรับชุมชนในการเฝ้าระวังด้วยตนเอง การเชื่อมโยงข้อมูลกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง การตอบสนองต่อภาวะฉุกเฉิน การพัฒนาโปรแกรมการเรียนรู้สำหรับนักวิทยาศาสตร์ภาคพลเมืองด้านสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ และการออกแบบระบบฐานข้อมูลรองรับการเฝ้าระวังฯโดยชุมชน 3) การอบรมนักวิทยาศาสตร์ภาคพลเมือง และ 4) ร่วมกับหน่วยงานที่รับผิดชอบในการสื่อสารความเสี่ยงและกำหนดมาตรการต่างๆ เพื่อปกป้องและคุ้มครองกลุ่มเสี่ยงฯ
ในการวิจัยเพื่อการพัฒนาระบบนี้ จะแบ่งเป็น 2 ระยะ โดยโครงการนี้เป็นการดำเนินงานในระยะแรกประกอบด้วยขั้นตอนที่ 1 และ 2 ระยะเวลาดำเนินงาน 15 เดือน ตั้งแต่ 1 กรกฎาคม 2567 ถึง 30 กันยายน 2568 มีวัตถุประสงค์เพื่อสร้างกระบวนการให้ทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องได้ร่วมกันกำหนดกรอบแนวทางการเฝ้าระวังฯ สร้างนักวิทยาศาสตร์ภาคพลเมืองด้านสิ่งแวดล้อมและสุขภาพในการร่วมกับภาคส่วนต่างๆ เฝ้าระวังผลกระทบทางสุขภาพ และออกแบบระบบฐานข้อมูลด้านสิ่งแวดล้อมและสุขภาพจากการเฝ้าระวังฯ ของนักวิทยาศาสตร์ภาคพลเมือง
โดยมีผลลัพธ์ได้แก่ ข้อเสนอแนะเชิงนโยบายเกี่ยวกับการเฝ้าระวังผลกระทบทางสุขภาพโดยชุมชน แผนที่เส้นทางความเชื่อมโยงจากแหล่งกำเนิดไปยังกลุ่มเสี่ยง ตัวชี้วัดด้านสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ ชุดเครื่องมือการตรวจวัดสำหรับประชาชนใช้ในการเฝ้าระวัง หลักสูตรพัฒนานักวิทยาศาสตร์ภาคพลเมืองสำหรับการเฝ้าระวังผลกระทบจากการทำเหมืองแร่ทองคำ และระบบการบันทึกข้อมูลและจัดเก็บเป็นฐานข้อมูลการเฝ้าระวังฯ โดยชุมชน
Click the picture for view PDF file