การประเมินผลกระทบทางสุขภาพโดยชุมชน กรณีโรงไฟฟ้าหงสา ในจังหวัดน่าน


ปี พ.ศ 2561 สถาบันวิจัยระบบสาธารณสุข (สวรส.) ได้สนับสนุนคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ จัดทำโครงการวิจัยเพื่อเตรียมความพร้อมให้กับชุมชนในการประเมินผลกระทบด้านสุขภาพชุมชนที่มีความเสี่ยงจากโครงการพัฒนาในพื้นที่ชายแดน : กรณีผลกระทบจากโรงไฟฟ้าหงสา ในจังหวัดน่าน  โดยเลือกกลุ่มเป้าหมายแบบเจาะจงคือหมู่บ้านน้ำรีพัฒนาและน้ำช้างพัฒนา อ.เฉลิมพระเกียรติ จ.น่าน  โดยใช้การประเมินผลกระทบทางสุขภาพโดยชุมชน (Community Health Impact Assessment: CHIA , เอชไอเอชุมชน) เป็นเครื่องมือ เพื่อนำไปสู่การออกแบบระบบเฝ้าระวังผลกระทบทางสุขภาพโดยชุมชน (Community-led health impact monitoring)

ด้วยข้อจำกัดด้านระยะเวลาทำให้ขอบเขตการดำเนินงานของโครงการวิจัยฯ นี้ เป็นการทำเอชไอเอชุมชนในขั้นตอนที่ 1 และ 2  คือ การค้นหาคุณค่าหลักของชุมชน และการศึกษาข้อมูลโครงการโรงไฟฟ้าหงสา ไม่ได้ทำการประเมินผลกระทบ (Appraisal) อย่างไรก็ตามทางทีมวิจัยได้มีกระบวนการรวบรวมข้อห่วงกังวลพร้อมทั้งจัดลำดับความสำคัญและจัดทำแผนที่ความเสี่ยงเบื้องต้น เพื่อใช้เป็นข้อมูลในการประเมินผลกระทบทางสุขภาพแบบสมบูรณ์ที่จะดำเนินการในระยะต่อไป รวมถึงใช้ประกอบการออกแบบระบบเฝ้าระวังของชุมชน

ทั้งนี้คณะผู้วิจัยได้รับความอนุเคราะห์จากสำนักงานสาธารณสุขจังหวัดน่าน ให้นักวิจัยภาคสนามพักที่โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบลบ้านน้ำรีพัฒนาเป็นระยะเวลา 5 เดือน ระหว่างวันที่ 16 พฤษภาคม - 16 กันยายน 2560 เพื่อเรียนรู้วิถีชุมชนโดยการสังเกตแบบมีส่วนร่วม สัมภาษณ์เชิงลึก และจัดกระบวนการเรียนรู้กับชุมชน ดังนี้

  1. การค้นหาคุณค่าหลักของชุมชน (Community Core Value) โดยการใช้เครื่องมือแผนที่ชุมชน (Community map) และลำดับเวลาการเปลี่ยนแปลงของชุมชน (Timeline)
  2. การเรียนรู้ข้อมูลโครงการโรงไฟฟ้าถ่านหินหงสา โดยได้เชิญ ผศ.ดร.ธนพล เพ็ญรัตน์ อาจารย์ประจำคณะวิศวกรรมศาสตร์ ม.นเรศวร มาเป็นวิทยากรบรรยาย เพื่อให้ชุมชนมีความรู้ ความเข้าใจเกี่ยวกับกระบวนการผลิตไฟฟ้าโดยใช้ถ่านหินเป็นเชื้อเพลิง มลพิษที่เกิดขึ้นจากกระบวนการผลิต ความเสี่ยงต่อระบบนิเวศ เส้นทางรับสัมผัสและการเข้าสู่ร่างกายมนุษย์ ซึ่งมีทั้งส่วนที่เป็น แนวคิด หลักการ เทคโนโลยี ความเสี่ยงของโรงไฟฟ้าถ่านหินทั่วไป กรณีศึกษาประเทศสหรัฐอเมริกา ข้อมูลเทคโนโลยีและความเสี่ยงจากโครงการโรงไฟฟ้าหงสา
  3. การจัดทำแผนที่ความเสี่ยงและข้อห่วงกังวล หลังจากเสร็จสิ้นกระบวนการตามข้อ 1 และ 2 แล้ว ได้จัดกระบวนการเรียนรู้ ความเสี่ยง โดยให้ชุมชนนำข้อมูลทั้งสองส่วนคือข้อมูลชุมชนและข้อมูลโรงไฟฟ้าหงสา มาวิเคราะห์รวมกันเพื่อคาดการณ์ความเสี่ยงเบื้องต้นที่อาจจะเกิดขึ้นกับชุมชนในอนาคต พร้อมกับข้อเสนอในการพัฒนาระบบเฝ้าระวังฯ ของชุมชน

 


สรุปข้อค้นพบและข้อเสนอแนะ


1. บริบทพื้นที่

บ้านน้ำรีพัฒนา และ บ้านน้ำช้างพัฒนา เป็นหมู่บ้านชาวลัวะ (Lua) ตั้งอยู่บนภูพยัคฆ์ ในเขตการปกครองขององค์การบริหารส่วนตำบลขุนน่าน อ.เฉลิมพระเกียรติ จ.น่าน ซึ่งเป็นภูเขาสูงชายแดนไทย- ลาว และเป็นต้นน้ำน่าน ในอดีต ชาวลัวะจะสร้างบ้านอยู่รวมกันเป็นกลุ่มๆละ 4-5 หลังคาเรือน กระจายอยู่ในป่าครอบคลุมพื้นที่ทั้งฝั่งประเทศไทยและ สปป.ลาว ส่วนใหญ่เป็นเครือญาติกัน พึ่งพาทรัพยากรธรรมชาติจากป่าเป็นหลักในการดำรงชีวิต

ปีพ.ศ. 2510 พรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทยได้เข้ามาตั้งฐานทัพใหญ่ที่ภูพยัคฆ์ และชักชวนชาวลัวะเข้าร่วมกองกำลังด้วย จนกระทั่งปี พ.ศ. 2526 รัฐบาลไทยได้มีนโยบาย 66/2523 ให้คนไทยที่เข้าร่วมอุดมการณ์พรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทยวางอาวุธและออกมามอบตัวเป็นผู้ร่วมพัฒนาชาติไทย หลังจากนั้น ปี พ.ศ. 2527 รัฐบาลไทยได้จัดตั้งหมู่บ้านขึ้นใหม่ คือ หมู่บ้านน้ำช้างพัฒนาและหมู่บ้านน้ำรีพัฒนา ทุกครอบครัวกลับมาทำอาชีพเดิม คือ ทำไร่ ทำสวน เลี้ยงวัว  ควาย ไก่  เป็ด  หมูดำ ฯลฯ ปลูกละหุ่ง งา และเก็บกง ปอสา ขายเป็นรายได้ ในช่วงนี้ทางรัฐไทยได้ช่วยเหลือทุกอย่าง เช่น เสื้อผ้า อาหาร รวมถึงการสร้างบ้าน ปัจจุบันทั้ง 2 หมู่บ้านมีจำนวนประชากรรวม 1,751 คน 449 หลังคาเรือน ประชากรส่วนใหญ่ถือบัตรประชาชนไทย มีบางส่วนถือบัตรประจำตัวผู้ไม่มีสัญชาติไทย และมีแรงงานต่างด้าวซึ่งเป็นคนลาวอาศัยอยู่ในหมู่บ้านด้วย

ปัจจุบันชาวบ้านส่วนใหญ่ยังคงนับถือผี  มีบางส่วนเริ่มหันมานับถือศาสนาพุทธและคริสต์ สื่อสารด้วยภาษาลัวะเป็นหลัก ผู้สูงอายุส่วนใหญ่ไม่สามารถสื่อสารและเข้าใจภาษาไทยได้ ลักษณะบ้านเรือน ส่วนใหญ่สร้างด้วยไม้ บางส่วนสร้างด้วยไม้ไผ่ ชาวบ้านเกือบทั้งหมดประกอบอาชีพเกษตรกรรม โดยได้รับการส่งเสริมและสนับสนุนจากสถานีพัฒนาเกษตรบนพื้นที่สูง ซึ่งเป็นโครงการในพระราชดำริ ของสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ ในรัชกาลที่ 9 และ โครงการแม่ฟ้าหลวง พืชเศรษฐกิจหลัก ได้แก่ หม่อน ลิ้นจี่ กาแฟ ข้าวโพด และกล้วย ปลูกข้าวไร่ไว้บริโภคในครัวเรือน เกือบทุกหลังคาเรือนมีการจ้างแรงงานต่างด้าวซึ่งเป็นคนลาวช่วยทำงานในไร่ ซึ่งสามารถจ้างทำงานได้ทุกประเภท ยกเว้น งานเก็บหม่อน เนื่องจากหม่อนมีความเปราะบาง อาจเสี่ยงติดเชื้อจากคนลาวที่ไม่ได้รับการฉีดวัคซีนป้องกันโรค  คนลาวเหล่านี้จะเดินลัดเลาะมาตามแนวเขาข้ามเขตมายังฝั่งไทย มีทั้งแบบไป-กลับ และอยู่ในหมู่บ้าน 3-4 วัน ทั้งสองหมู่บ้านใช้น้ำจากประปาภูเขาเพื่อการอุปโภค บริโภค และน้ำเพื่อการเกษตร โดยแหล่งน้ำดิบมาจากลำน้ำหลักสองสายคือ ลำน้ำรี และ ลำน้ำช้าง ใช้ฟืนในการหุงหาอาหาร บางบ้านใช้เตาแก๊ส มีไฟฟ้าใช้แต่ไม่ค่อยเสถียร

  

ชาวบ้านส่วนใหญ่ยังคงมีฐานะยากจน  ในด้านสุขภาพป่วยด้วยโรคระบบทางเดินหายใจ โรคหัวใจและหลอดเลือด ความดันโลหิตสูง เบาหวาน มีภาวะเสี่ยงต่อการแท้งบุตรสูง  เมื่อเจ็บป่วยชาวบ้านนิยมมารับการรักษาที่ รพ.สต. บ้านน้ำรีพัฒนา แต่หากเจ็บป่วยมากจะไปที่โรงพยาบาลเฉลิมพระเกียรติ และ โรงพยาบาลน่าน ซึ่งมีค่าใช้จ่ายในการเดินทางสูง โดยจากหมู่บ้านน้ำรี ไปโรงพยาบาลเฉลิมพระเกียรติ ค่าเหมารถ 1,000 บาท ไปโรงพยาบาลน่าน 4,000 บาท

 

2. โรงไฟฟ้าหงสา สปป.ลาว

โรงไฟฟ้าหงสา เป็นโรงไฟฟ้าถ่านหินลิกไนต์ที่ใหญ่ที่สุดในสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว ตั้งอยู่ที่เมืองหงสา แขวงไชยะบุรี ประเทศลาว ใกล้กับชายแดนไทยที่ด่านห้วยโก๋น อ.เฉลิมพระเกียรติ จ.น่าน มีพื้นที่ทั้งโรงไฟฟ้าและเหมืองถ่านหิน รวม 76.4 ตารางกิโลเมตร กำลังการผลิต 1,878 เมกะวัตต์ ส่งขายให้แก่ไทยเป็นหลัก คือ 1,473 เมกะวัตต์ ผ่านสายส่ง 500 กิโลวัตต์ เข้าสู่ระบบสายส่งไฟฟ้าของการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) และขายไฟฟ้าให้ลาว 100 เมกะวัตต์ผ่านสายส่ง 115 กิโลวัตต์ของรัฐวิสาหกิจไฟฟ้าลาว จากโรงไฟฟ้าถึงหลวงพระบาง โรงไฟฟ้าหงสาเปิดดำเนินการเมื่อเดือนพฤศจิกายน 2558 โดยมีระยะเวลา 25 ปี

โรงไฟฟ้าได้ติดตั้งเทคโนโลยีเพื่อดักจับมลพิษ  ได้แก่

  1. Flue gas desulphurization (FGD) เพื่อกำจัดซัลเฟอร์ไดออกไซด์ออกจากก๊าซเชื้อเพลิงโดยออกแบบให้มีประสิทธิภาพมากถึง 92%
  2. Electrostatic Precipitator (EPS) ดักจับฝุ่นละอองและเถ้าลอยในไอเสียด้วยระบบไฟฟ้าสถิต โดยออกแบบให้มีประสิทธิภาพสูงถึง 99.86%
  3. Selective Catalytic Reduction (SCR) จับก๊าซไนโตรเจนออกไซด์ และ CEM คือการติดตั้งระบบเฝ้าระวังการปล่อยก๊าซอย่างต่อเนื่องที่ปลายปล่องเพื่อวัด NOx  Sox  TSP  O2  temp. และอื่น ๆ ซึ่ง ข้อมูลจะถูกตรวจสอบแบบเรียลไทม์ที่ห้องควบคุม แต่ไม่ได้ติดตั้งเครื่องดักจับปรอท (Mercury Capture Equipment) ทั้งนี้ ถ่านหินลิกไนต์ที่ทางโรงไฟฟ้าใช้ในการผลิตไฟฟ้ามีปรอทเป็นองค์ประกอบอยู่ด้วย

 

3. การเฝ้าระวังผลกระทบ

ในการผลิตไฟฟ้าโดยใช้ถ่านหินเป็นเชื้อเพลิงจะก่อให้เกิดมลพิษหลายชนิด โดยเฉพาะมลพิษทางอากาศ อาทิ ฝุ่นละอองขนาดเล็ก 2.5 (PM 2.5) ก๊าซไนโตรเจนออกไซด์ ซัลเฟอร์ไดออกไซด์ โลหะหนัก ปรอท เป็นต้น ซึ่งผลกระทบจากมลพิษเหล่านี้ไม่ได้มีขอบเขตจำกัดตามเส้นแบ่งพรมแดนประเทศหากแต่ขึ้นอยู่กับหลายปัจจัย ซึ่งแม้ว่าทางโครงการจะมีการจัดทำรายงานการวิเคราะห์ผลกระทบทางสิ่งแวดล้อม(Environmental Impact Assessment: EIA) มีมาตรการลดผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมและมีระบบเฝ้าระวังผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ หากแต่ก็เป็นเพียงการดำเนินการในประเทศลาวเท่านั้น ไม่ได้ครอบคลุมกลุ่มเสี่ยงในประเทศไทย

ในส่วนระบบเฝ้าระวังผลกระทบต่อสุขภาพ ที่ทางบริษัทหงสาฯ ดำเนินการในประเทศลาว ได้ใช้หลักการระบาดวิทยา กล่าวคือ มีการจัดทำแผนที่ความเสี่ยงโดยได้ใส่ข้อมูลแหล่งกำเนิดมลพิษทั้งหมดในพื้นที่ อาทิ โรงไฟฟ้าฯ โรงสีข้าว โรงทำขนมจีน ฯลฯ โดยในขอบเขตรัศมี 5 กิโลเมตร จะมีการตรวจเช็คทุกพารามิเตอร์กับประชาชนทุกคน ส่วนในขอบเขตพื้นที่ 5-10 กิโลเมตร จะทำการตรวจเช็คทุกพารามิเตอร์กับประชากรกลุ่มเสี่ยง ทั้งนี้การเก็บข้อมูลสุขภาพจะทำโดยอาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน โดยจะทำการรวบรวมทุกสัปดาห์ส่งให้นักวิชาการวิเคราะห์ข้อมูล เสร็จแล้วจะส่งต่อไปให้ทางแขวง เมือง และ โรงไฟฟ้า ตามลำดับ ในส่วนข้อมูลคุณภาพสิ่งแวดล้อม จะมีการตรวจวัดไนโตรเจนออกไซต์ (NOx) ซัลเฟอร์ออกไซต์ (Sox) และฝุ่นรวม (TSP)  ที่ปากปล่อง แต่ไม่มีการวัดฝุ่นขนาดเล็ก PM 2.5 ส่วนปรอทและโลหะหนักจะมีการตรวจวัดเป็นข้อมูลรายปี

สำหรับการเฝ้าระวังผลกระทบในจังหวัดน่าน ทางบริษัทหงสาฯ ได้สนับสนุนให้มีการจัดตั้งเครือข่ายเฝ้าระวังและติดตามการจัดการทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม โดยมีผู้ว่าราชการจังหวัดและภาคประชาสังคมจังหวัดน่านได้ลงนามร่วมมือ  นอกจากนี้ นพ.ฬุจิศักดิ์ วรเดชวิทยา ผู้อำนวยการโรงพยาบาลเฉลิมพระเกียรติ จังหวัดน่าน มีความห่วงกังวลเกี่ยวกับมลพิษทางอากาศที่อาจจะข้ามพรมแดนมาและส่งผลกระทบต่อสุขภาพประชาชนในพื้นที่ประเทศไทย จึงได้ริเริ่มโครงการเฝ้าระวังผลกระทบทางสุขภาพและสิ่งแวดล้อมขึ้น โดยประสานงานขอความร่วมมือและสนับสนุนงบประมาณจากบริษัทหงสาพาวเวอร์ จำกัด  (Hongsa Power Company Limited -HPC) ซึ่งเป็นนิติบุคคลตามกฎหมายลาว การดำเนินงานประกอบไปด้วย 1) จัดตั้งศูนย์วิทยาศาสตร์และสิ่งแวดล้อม จังหวัดน่าน 2) แผนเฝ้าระวังด้านสิ่งแวดล้อมโดยใช้เครื่องตรวจวัดคุณภาพอากาศ  และ 3) แผนเฝ้าระวังทางสุขภาพ โดยมุ่งเน้นที่ระบบทางเดินหายใจ (วัดสมรรถนะปอด, X-Ray) และระบบหัวใจและหลอดเลือด ( ตรวจ EKG) ซึ่งจะทำการตรวจวัดทุก 2 ปี ในพื้นที่ 3 อำเภอ ได้แก่ เฉลิมพระเกียรติ ทุ่งช้าง และสองแคว เพื่อจัดทำเป็นข้อมูลพื้นฐานด้านสุขภาพ แบบดิจิทอล โครงการนี้ได้ดำเนินการมาระยะหนึ่งก็ต้องชะลอตัวลงเนื่องจากไม่มีงบประมาณและนโยบายสนับสนุนการดำเนินงานอย่างต่อเนื่อง

 

4. ข้อห่วงกังวลของชุมชน

การเจ็บป่วยด้วยโรคจากมลพิษสิ่งแวดล้อมส่วนใหญ่จะเกิดจากการรับสัมผัสมลพิษสะสมอย่างต่อเนื่องเป็นระยะเวลานาน ดังนั้น ปัจจัยที่จะส่งผลต่อการเปลี่ยนแปลงภาวะสุขภาพ ที่ชุมชนให้ความสำคัญเป็นอันดับแรกจึงไม่ใช่การเจ็บป่วยด้วยมลพิษทางอากาศ หากแต่เป็น ปัจจัยทางเศรษฐกิจ เนื่องจากมลพิษทางอากาศที่เกิดจากโรงไฟฟ้าถ่านหิน เป็นสาเหตุหนึ่งของการเกิดภาวะฝนกรด ซึ่งมีผลต่อการเจริญเติบโตของพืช  ทำให้ผลผลิตเสียหาย ซึ่งจะส่งผลต่อเนื่องให้รายได้ของเกษตรกรลดลง

 

เมื่อชาวบ้านไม่สามารถประกอบอาชีพได้ดังเดิมประกอบกับรายได้ไม่เพียงพอกับค่าใช้จ่าย จะเป็นปัจจัยผลักให้คนหนุ่มสาวที่เป็นวัยแรงงานต้องออกจากหมู่บ้านไปหางานทำในเมือง ทิ้งเด็กและผู้สูงอายุไว้ในหมู่บ้าน ในอนาคตอาจจะทำให้เกิดการย้ายถิ่นตามมา ซึ่งคนเหล่านี้มีความเสี่ยงที่จะตกอยู่ในสภาวะคนจนเมือง หรือการเป็นคนไร้บ้าน นอกจากนี้ยังส่งผลกระทบไปถึงแรงงานต่างด้าวที่เป็นคนลาวมารับจ้างทำงานในไร่ของชาวบ้านด้วย ซึ่งหากไม่สามารถทำงานในหมู่บ้านนี้ได้อีกต่อไปก็จะต้องเดินทางไปทำงานในพื้นที่ที่ไกลขึ้น และมีความเสี่ยงต่อการถูกจับ และอาจจะมีปัญหาอื่น ๆ ตามมา

 

5. ข้อเสนอ

  1. พัฒนาระบบเฝ้าระวังผลกระทบต่อสุขภาพ ภายใต้หลักการป้องกันไว้ก่อน (Precaution Principle)  โดยมาตรการป้องกันและแก้ไขปัญหาต้องพิจารณาจากความเสี่ยง โดยไม่ต้องรอให้พบว่ามีผู้ป่วย อาทิ ผลกระทบต่อการประกอบอาชีพและรายได้ แนวโน้มของเคลื่อนย้ายแรงงาน การเคลื่อนย้ายถิ่นฐาน เป็นต้น
  2. สนับสนุนการสร้างกระบวนการเรียนรู้ของชุมชนเรื่องความเสี่ยงจากมลพิษโรงไฟฟ้าถ่านหิน (Health Literacy) โดยควรใช้ภาษาของชาวลัวะซึ่งเป็นภาษาที่ใช้สื่อสารของชุมชนด้วย เพื่อให้ชาวบ้านมีความรู้ ความเข้าใจ ตระหนัก และสามารถปรับตัว รับมือกับความเสี่ยงและผลกระทบที่อาจจะเกิดขึ้นได้อย่างทันท่วงที
  3. พัฒนาระบบและพัฒนาขีดความสามารถให้ชุมชนซึ่งเป็นกลุ่มชาติพันธุ์ลัวะและมีความเปราะบาง สามารถเฝ้าระวังผลกระทบได้ด้วยตนเอง (Community-led Monitoring System) โดยยึดหลักการ Co-Design , Co-Creation ในการออกแบบระบบ รวมถึงการใช้หลักการสร้างความรู้ร่วม (Co-Production of Knowledge) ระหว่างความรู้ของผู้เชี่ยวชาญแบบสหสาขาวิชาและความรู้ของชุมชน ในการพัฒนาตัวชี้วัดที่ง่ายต่อการเก็บบันทึกข้อมูลโดยใช้เทคโนโลยีที่เหมาะสม และมีการเชื่อมโยงระบบข้อมูลกับหน่วยงานภาครัฐ ทั้งของประเทศไทยและ สปป. ลาว รวมถึงบริษัทโรงไฟฟ้าหงสา เพื่อร่วมกันเฝ้าระวังและติดตามผลกระทบที่อาจจะเกิดขึ้น และใช้ข้อมูลในการออกแบบป้องกันและแก้ไขปัญหาร่วมกันได้อย่างทันเวลา
  4. ควรยกระดับและเพิ่มขีดความสามารถของโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล บ้านน้ำรี ทั้งด้านเจ้าหน้าที่และโครงสร้างพื้นฐานที่จำเป็น เพื่อรองรับการให้บริการสุขภาพประชาชนที่มีความเสี่ยงจากมลพิษโรงไฟฟ้าถ่านหินได้อย่างมีประสิทธิภาพ อาทิ อัตรากำลังของเจ้าหน้าที่ ระบบปรึกษากับแพทย์ผู้เชี่ยวชาญ ระบบส่งต่อผู้ป่วย การจัดสรรงบประมาณที่เหมาะสม การจัดการระบบไฟฟ้าให้เสถียร เป็นต้น เนื่องจากเป็นหน่วยบริการสุขภาพปฐมภูมิที่ใกล้ชิดกับชุมชนและเป็นหน่วยบริการหลักที่ชาวบ้านทั้งสองหมู่บ้านรวมถึงชาวลาวมาขอรับบริการ

ดาวน์โหลดเอกสารงานวิจัยฉบับสมบูรณ์